
มะยม
- ชื่อสมุนไพร มะยม
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น มะยม, บะยม (ภาคเหนือ), หมากยม (ภาคอีสาน), ยม (ภาคใต้)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Phyllanthus acidus (Linn.) Skeels.
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Phyllanthus distichus Müll.Arg. Cicca acida Merr. Cicca disticha L. Averrhoa acida L - ชื่อสามัญ Star-goose berry
วงศ์ PHYLLANTHACEAE (EUPHOBIACEAE)
มะยม ภาคอีสานเรียกว่า หมากยม ภาคใต้เรียกว่า ยม เป็นไม้ยืนต้น ขนาดเล็กถึงขนาดกลาง สูงประมาณ 3 – 10 เมตร ลำต้นตั้งตรง เปลือกต้นขรุขระสีเทาปนน้ำตาล แตกกิ่งที่ปลายยอด กิ่งก้านจะเปราะและแตกง่าย ใบประกอบ มีใบย่อยออกเรียงแบบสลับกันเป็น 2 แถว แต่ละก้านมีใบย่อย 20 – 30 คู่ ใบรูปขอบขนานกลมหรือค่อนข้างเป็นสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนปลายใบแหลม ฐานใบกลมหรือมน ขอบใบเรียบ ดอก ออกเป็นช่อตามกิ่ง ดอกย่อยสีเหลืองอมน้ำตาลเรื่อ ๆ ติดผลเป็นพวง ผลมีสามพูชัดเจน เมื่ออ่อนสีเขียว เมื่อแก่เปลี่ยนเป็นสีเหลืองหรือขาวแกมเหลือง เนื้อฉ่ำน้ำ เมล็ดรูปร่างกลม แข็ง สีน้ำตาลอ่อน 1 เมล็ด มีทั้งพันธุ์เปรี้ยวและพันธุ์หวาน ซึ่งมีรสหวานอมฝาดผลจะอ่อนนุ่มเมื่อสุก จึงเก็บเกี่ยวก่อนผลจะหล่นจากต้น ถิ่นกำเนิดอยู่ที่เอเชียใต้และอเมริกันเขตร้อน
ถิ่นกำเนิดมะยม
เชื่อกันว่าถิ่นกำเนิดดั้งเดิมของมะยมอยู่ในบริเวณ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ไทย พม่า มาเลเซีย ลาว อินโดนีเซีย แล้วมีการกระจายพันธุ์ไปสู่อินเดีย, มอร์เซียส, อเมริกากลาง, อเมริกาใต้ รวมไปถึงฮาวาย ด้วย สำหรับในประเทศไทยอาจถือได้ว่ามะยม เป็นพืชท้องถิ่นเลยก็ว่าได้ และในปัจจุบันยังสามารถพบเห็นมะยมได้ทั่วทุกภาคของประเทศ เพราะโดยส่วนมาก คนไทยนิยมปลูกไว้บริเวณหน้าบ้านเพื่อความเป็นสิริมงคล เพราะคำว่า มะยม ใกล้กับคำว่า นิยม จึงถือว่ามะยมเป็นไม้มงคลชนิดหนึ่ง และในตำราพรหมชาติได้กำหนดให้ปลูกต้นมะยมไว้ในบริเวณ บ้านด้านทิศตะวันตก ร่วมกับมะขาม และพุทรา
ลักษณะทั่วไปของมะยม |
- มะยมจัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กถึงกลาง มีความสูงประมาณ 3-10 เมตร ลำต้นตั้งตรง แตกกิ่งก้านสาขามาก เปลือกต้นเป็นปุ่มปมอันเกิดจากแผลเป็นของก้านใบที่ร่วงหล่นไปแล้ว กิ่งก้านมักจะเปราะและหักง่าย ใบเรียงสลับกันอยู่บริเวณปลายกิ่ง ใบเป็นประเภทขนนก คือ มีใบย่อยเรียงอยู่ 2 ด้าน ของก้านใบรวมขนาดใหญ่ ยาวประมาณ 30 เซนติเมตร ใบย่อย มี 20-30 คู่ เป็นรูปไข่เบี้ยว ปลายใบแหลม ก้นใบค่อนข้างกลม ด้านบนใบสีเขียวอ่อน ด้านล่างสีขาวนวลอมเขียว
ดอกมะยม ออกเป็นช่อ แทงออกตามกิ่ง และลำต้น แต่ส่วนมากออกตามปลายกิ่งจนถึงยอด มักแทงงอกบริเวณด้านล่างของใบ เป็นดอกเพศผู้ และดอกเพศเมียในต้นเดียวกัน มีก้านดอกยาว 1-2 มม. กลีบดอกมีรูปร่างคล้ายไต มีสีเขียว หรือ สีแดงเรื่อ กลีบดอกยาวประมาณ 1.5 มม. ดอกตัวผู้มีเกสรตัวผู้ 4 อัน ดอกตัวเมียมีรังไข่ 3-4 ห้อง บางครั้งอาจพบเกสรตัวผู้ 1-3 อัน บริเวณฐานรังไข่
ผลมะยม มีลักษณะค่อนข้างกลม ก้นแบน จุกด้านบนบริเวณก้านผลบุ๋มลงไปด้านข้าง เป็นพูเว้านูนรอบผล ประมาณ 6-8 พู (เหลี่ยมนูน) ผลกว้างประมาณ 1-3 ซม. มีขั้วผลสั้นประมาณ 0.5 ซม. ผลอ่อนมีสีเขียว ผลแก่มีสีเหลืองอมเขียวเล็กน้อย และแก่จัดจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองนวล เนื้อผลมีรสเปรี้ยวฉ่ำน้ำ ผล 1 ผล เมล็ดมี 1 เมล็ด มีลักษณะเป็นพูคล้ายพูผล เมล็ดมีสีนวลอมน้ำตาล เนื้อเมล็ดแข็งมาก
ทั้งนี้ต้นมะยมอาจแบ่งเป็นต้นตัวผู้ และต้นตัวเมีย โดยต้นตัวผู้จะมีลักษณะสูงใหญ่ แตกกิ่งก้านน้อย ใบใหญ่ ออกดอกเป็นสีแดงม่วง ไม่ติดผล หรือ ติดผลน้อย เพราะเป็นต้นที่ดอกมีเกสรตัวผู้มากกว่าเกสรตัวเมีย แต่ก็ติดผลบ้าง เพราะยังมีดอกเกสรตัวเมียบ้าง ส่วนต้นตัวเมียมักมีลักษณะลำต้นเตี้ยกว่า ออกใบเล็ก แต่ใบดก แตกกิ่งก้านมาก ดอกมีสีเหลืองเขียว ออกดอกดก ติดผลดกทั่วลำกิ่ง เพราะต้นตัวเมียจะมีเกสรตัวเมียมากกว่าเกสรตัวผู้ ซึ่งตามตำรายาไทยและตำรายาพื้นบ้าน มักจะนิยมใช้ราก และใบมะยมตัวผู้มากกว่าตัวเมีย เพราะมีสรรพคุณทางยามากกว่า
คุณค่าทางโภชนาการของมะยม มะยม ปริมาณ 100 กรัม ให้พลังงานประมาณ 16 กิโลแคลอรี่ และประกอบด้วยสารอาหารต่าง ๆ เช่น น้ำ 91.9 กรัม, ใยอาหาร 0.8 กรัม, โปรตีน 0.155 กรัม, ไขมัน 0.52 กรัม นอกจากนี้ มะยมยังอุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น แคลเซียม ฟอสฟอรัส ธาตุเหล็ก แคโรทีน (Carotene) วิตามินบี 1 วิตามินบี 2 วิตามินบี 3 วิตามินซี |
ตัวอย่างเมนูจากมะยม 1. มะยมตากแห้ง ส่วนผสมวัตถุดิบ 1. มะยม 600 กรัม 2. น้ำตาลทรายแดง 300 กรัม 3. สับปะรด 350 กรัม 4. น้ำผึ้ง ตามชอบ ขั้นตอนวิธีการทำ 1. นำล้างให้สะอาด 2. จากนั้นใส่เกลือ คลุกให้เข้ากัน 3. นำตากแดด วางเรียงอย่าให้ทับกัน ตาก 2-3 แดด เป็นอันเสร็จ 2. ตำมะยม ส่วนผสมวัตถุดิบ 1. มะยม 200g 2. กระเทียม 4 กลีบ 3. พริกขี้หนูสด 6 เม็ด 4. กะปิ 2 ชช. 5. น้ำปลาร้า 1 ชต. 6. น้ำปลา 1 ชต. 7. น้ำตาลทราย 1 ชต. 8. น้ำตาลปี๊บ 1 ชต. ขั้นตอนวิธีการทำ 1.เตรียมส่วนผสมให้พร้อม ใส่กระเทียมลงไป 2.ตามด้วยส่วนผสมแห้งตำพอเข้ากัน 3.จากนั้นใส่เครื่องปรุงตามชอบตำพอเข้ากัน เป็นอันเสร็จ |
ประโยชน์ของมะยมที่มีต่อสุขภาพ 1. อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยต้านการอักเสบและป้องกันโรค มะยมอาจนำมาใช้เพื่อป้องกันและรักษาโรคต่าง ๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคตับ โรคทางเดินหายใจ เนื่องจากอุดมไปด้วยสารต้านอนมูลอิสระ เช่น ฟลาโวนอยด์ (Flavonoid) ฟีนอลิก (Phenolic) ซึ่งอาจช่วยต้านการอักเสบ ต้านจุลชีพ และอาจช่วยรักษาระดับน้ำตาลในเลือด 2. อาจช่วยจัดการกับโรคเบาหวาน มะยมเป็นผลไม้ที่อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ เช่น ฟลาโวนอยด์ ฟีนอลิก เอทานอล (Ethanol) ที่มีคุณสมบัติช่วยต้านการอักเสบของเซลล์ในร่างกาย และลดระดับน้ำตาลในเลือด ซึ่งอาจช่วยป้องกันการเกิดโรคเบาหวานได้ 3. อาจช่วยปกป้องสุขภาพตับ มะยมอุดมไปด้วยเอทานอลซึ่งมีหน้าที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่มีสรรพคุณทางยา อาจช่วยปกป้องสุขภาพตับจากพิษของยาและผลข้างเคียงจากการใช้ยา 4. อาจช่วยต้านจุลชีพและป้องกันการติดเชื้อ มะยมอุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระที่มีฤทธิ์ช่วยต้านเชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดโรค ซึ่งอาจช่วยป้องกันร่างกายจากการติดเชื้อแบคทีเรีย และยังอาจช่วยรักษาแผลที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียได้อีกด้วย 5. อาจมีฤทธิ์เป็นยาระบายอ่อน ๆ สารประกอบที่พบในมะยมหลายชนิด เช่น วิตามินซี กรดทาร์ทาริก (Tartaric Acid) แทนนิน (Tannin) มีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระและมีความเป็นกรดสูง จึงอาจใช้เป็นยาระบายอ่อน ๆ ในผู้ที่มีอาการท้องผูกได้ |
ข้อควรระวังในการบริโภคมะยม การบริโภคมะยมอาจมีข้อควรระวังบางประการ ดังนี้ 1. มะยมมีรสชาติเปรี้ยวมาก มีกรดสูงและอาจมีฤทธิ์เป็นยาระบาย หากรับประทานในปริมาณที่มากเกินไปอาจทำให้มีอาการท้องเสีย เสียดท้องและปวดท้องได้ 2. สำหรับผู้ที่ใช้มะยมเป็นยารักษาโรคหรือบรรเทาอาการของโรคต่าง ๆ ควรปรึกษาคุณหมอก่อนใช้เสมอ เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นหากใช้ในปริมาณมาก 3. น้ำยางจากเปลือกและรากของต้นมะยมมีความเป็นพิษเล็กน้อย หากรับประทานอาจทำให้มีอาการง่วงซึมและปวดหัว |