admin@phraefoodthailand.com

ยินดีต้อนรับสู่เว็บไซต์ อาหารจังหวัดแพร่


มะแตง (แตงไทย)

แตงไทย ชื่อสามัญ Muskmelon
แตงไทย ชื่อวิทยาศาสตร์ Cucumis melo L. จัดอยู่ในวงศ์แตง (CUCURBITACEAE)
แตงไทย มีชื่อเรียกอื่น ๆ ว่า แตงลาย, มะแตงลาย, มะแตงสุก, แตงจิง, ดี, ซกเซรา เป็นต้น
แตงไทยเป็นผลไม้ที่มีถิ่นกำเนิดในแถบเอเชียแถวเชิงเขาหิมาลัย มีทั้งพันธุ์ผิวเรียบและผิวไม่เรียบ เช่น แคนตาลูป แตงเปอร์เซีย แตงกวาอาร์เมเนีย โดยเป็นผลไม้ที่สามารถปลูกได้ทุกภาคในประเทศไทยเรา เพราะปลูกง่าย ทนทาน แข็งแรง และให้ผลผลิตในช่วงหน้าร้อน ลักษณะของผลอ่อนจะมีสีเขียวและมีลายสีขาวพาดยาว เมื่อผลแก่เปลือกจะเปลี่ยนเป็นสีเหลือง ผิวจะเรียบเป็นมัน เนื้อด้านในของผลจะมีสีเหลืองอ่อนอมเขียว ให้กลิ่นหอม มีเมล็ดรูปแบนรีสีครีมจำนวนมาก แตงไทย จัดเป็นผลไม้เพื่อสุขภาพชนิดหนึ่ง อุดมไปด้วย วิตามินเอ วิตามินซี วิตามินอี ธาตุฟอสฟอรัส ธาตุแคลเซียม ธาตุโพแทสเซียม คาร์โบไฮเดรต เป็นต้นสำหรับประโยชน์ของแตงไทยนั้นก็ได้แก่ การนำมากินเป็นผักสดจิ้มน้ำพริกหรือนำไปดอง รับประทานสด ๆ หรือนำไปใช้ทำของหวาน เช่น น้ำปั่น ผลไม้แห้ง เป็นต้น สำหรับแตงไทย สรรพคุณในด้านการรักษาโรคนั้นก็เช่น ช่วยแก้เลือดกำเดาไหล แก้โรคดีซ่าน ขับปัสสาวะ แก้อาการไอ เป็นต้น
1. ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลำต้น แตงไทยเป็นไม้เถาล้มลุก มีลำต้นลาย เป็นสันร่องตามยาว แตกกิ่งแขนง และมีมือเกาะ มีขนปกคลุมลำต้น
2. ใบ เป็นใบเดี่ยวขนาดใหญ่ มีลักษณะเหลี่ยมมีเว้าเล็กน้อย มีรูปทรงกลมหรือรูปไต ขอบใบหยัก มีแฉก 5-7 แฉก กว้าง และยาวประมาณ 8-15 เซนติเมตร โคนใบเป็นรูปหัวใจ ใบมีขนขึ้นปกคลุม ก้านใบยาว 4-10 เซนติเมตร
3. ดอก เป็นดอกสมบูรณ์เพศ ออกดอกเดี่ยวสีเหลือง มีก้านดอกสั้น ดอกเพศผู้ออกเป็นจุกที่ง่ามใบ ดอกบานกว้าง 1.2-3 เซนติเมตร มีกลีบรองดอก 5 กลีบ แต่ละกลีบยาว 6-8 มิลลิเมตร ส่วนกลีบดอกมี 5 กลีบ เชื่อมติดกันบริเวณโคนกลีบ แต่ละกลีบมีรูปทรงกลม ยาวประมาณ 2 เซนติเมตร ด้านในมีเกสรตัวผู้ 3 อัน ระหว่างอับเรณูมีติ่งยาวส่วนดอกเพศเมีย ออกเป็นดอกเดี่ยว มีกลีบรองดอก และกลีบดอกเหมือนดอกเพศผู้ ปลายท่อรังไข่มีแฉก 3-5 แฉก
4. ผล แตงไทยมีลักษณะกลมหรือรียาว ตามสายพันธุ์ ผลมีลายตามความยาวของผล มีความยาวผลประมาณ 23 เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 14 เซนติเมตร ผิวเปลือกมันเรียบ ผลดิบมีสีเขียว มีลายสีขาวหรือสีเหลืองตามแนวยาว มีเนื้อสีขาวนวล ส่วนผลสุกมีเปลือกบาง เปลือกสีเหลือง มีกลิ่นหอม เนื้อสีเหลืองนวลหรือสีเขียวอ่อน มีรสจืด ออกเปรี้ยวมาก แต่ละต้นติดผลประมาณ 3-5 ผล
แตงไทยเป็นพืชชนิดหนึ่งซึ่งคนไทยตั้งแต่อดีตทราบดีว่า มีความแตกต่างด้านกลิ่นและรสชาติอย่างมากเมื่อเปรียบเทียบกับแตงชนิดอื่นๆ หรือแม้แต่ระหว่างพันธุ์ต่างๆในแตงไทยชนิดเดียวกัน
แตงไทย : จากแดนไกลมาเป็นไทยเต็มตัว
แตงไทย เป็นพืชในวงศ์เดียวกับ บวบ ฟัก หรือแตงต่างๆนั่นเอง คือวงศ์ Cucurbitaceae มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Cucumis melo Linn เป็นไม้ล้มลุกที่มีเถาเลื้อยไปบนพื้นดิน มีมือจับตรงง่ามใบ ใบมีขนาดใหญ่คล้ายๆใบแตงกวา ทุกส่วนของลำต้นมีขนสีขาวปกคลุม ดอกสีเหลือง แยกเป็นดอกตัวผู้และดอกตัวเมียอยู่บนต้นเดียวกัน ผลมีขนาดโตกว่าแตงกวา แต่เล็กกว่าแตงโม รูปร่างกลมรี หรือกลมยาว หัวท้ายมน ผิวเปลือกบาง ผิวสีขาว ครีม เหลือง เขียว หรือมีลาย  เนื้อเมื่ออ่อนสีขาว  เมื่อสุกสีขาว เขียวอมเหลือง แสด ฯลฯ เนื้ออ่อนนุ่ม บางพันธุ์ค่อนข้างร่วน มีกลิ่นหอมเฉพาะตัวค่อนข้างแรง รสหวานไม่มากเท่าแตงโม ขึ้นอยู่กับพันธุ์และวิธีปลูก เมล็ดแบนสีขาวครีมเล็กและสั้นกว่าเมล็ดแตงกวา
แตงไทยมีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมอยู่แถบภาคใต้ของทวีปแอฟริกาเช่นเดียวกับแตงโม และแพร่หลายไปทั่วโลกเหมือนกัน แตงไทยเข้ามาในพื้นที่ประเทศไทยปัจจุบันตั้งแต่เมื่อใดไม่มีบันทึกเอาไว้แต่คงเป็นเวลาหลายร้อยปีมาแล้ว  จึงพบว่ามีปลูกอยู่ทั่วไปทุกภาครวมทั้งคนกลุ่มน้อย เช่น ชาวไทยภูเขาต่างๆ ก็ปลูกแตงไทยมานานแล้วเช่นกัน
ในหนังสือ อักขราภิธานศรับท์ ของหมอปรัดเล พ.ศ.๒๔๑๖ กว่าร้อยปีมาแล้ว  อธิบายเกี่ยวกับแตงไทยเอาไว้ว่า “แตงไท : เป็นชื่อแตงอย่างหนึ่ง ลูกลายๆ ถ้าสุกกินรสหวานเย็นๆที่เขากินกับน้ำกะทินั้น” แสดงว่าชาวไทยรู้จักเพาะปลูกและกินแตงไทยกันมากว่าร้อยปีแล้ว ยิ่งกว่านั้นยังเรียกว่า แตงไท และนิยมกินแตงไทยกับน้ำ(เชื่อม)กะทิเหมือนในปัจจุบันอีกด้วย
แตงไทย เป็นชื่อที่เรียกในภาคกลาง ภาคเหนือเรียกแตงลาย มะแตงลาย หรือมะแตงสุก  ภาคอีสานเรียก แตงจิงภาษาอังกฤษเรียก Musk melon และ Cantaloupe ซึ่งเป็นแตงชนิดเดียวกัน แต่รูปร่างผล กลิ่น และรส แตกต่างจากแตงไทย ดังนั้น คนไทยจึงเรียก Musk melon และ Cantaloupe ว่าแตงฝรั่ง หรือเรียกทับศัพท์ว่า แตงแคนตาลูปบ้าง
แตงไทยจึงเป็นผักและผลไม้ที่น่าปลูกอย่างยิ่งไม่เฉพาะเกษตรกรเท่านั้น หากรวมถึงผู้อ่านที่มีพื้นดินหรือบริเวณบ้านพอแบ่งเป็นสวนครัวหลังบ้านได้บ้าง เพราะแม้จะไม่เคยปลูกแตงไทยมาก่อนเลยก็อาจปลูกแตงไทยได้โดยไม่ต้องอาศัยสารเคมีชนิดใดๆทั้งสิ้น หรือหากไม่มีพื้นที่สำหรับปลูกแตงไทยเลย ก็ขอให้ช่วยกันกินแตงไทยมากๆ เพราะนอกจากท่านจะได้กลิ่นและรสชาติของแตงแบบไทยๆแล้ว ท่านยังปลอดภัยจากสารเคมีตกค้างชนิดต่างๆอีกด้วย
แตงไทยในฐานะ : ผักและผลไม้
แตงไทยผลอ่อน ใช้เป็นผักจำพวกผักผลสดเช่นเดียวกับแตงกวา นิยมใช้กินสดเป็นผักจิ้มชนิดหนึ่ง รสชาติคล้ายแตงกวาแต่เนื้อแน่นกว่า(น้ำน้อยกว่า) นอกจากนั้นยังนำไปยำและแกงเช่นเดียวกับแตงกวา รวมทั้งใช้ดองเป็นแตงดองได้ดีอีกด้วย นิยมดองให้มีรสออกหวานและเค็มเล็กน้อยมากกว่าดองเปรี้ยว
น่าเสียดายที่คนไทยยุคปัจจุบันไม่นิยมนำผลแตงไทยอ่อนมาใช้เป็นผักมากเหมือนในอดีต เท่าที่สังเกตดูจะมีแต่ภาคอีสานเท่านั้นที่ยังนิยมมากพอสมควร
ปัจจุบันคนไทยส่วนใหญ่รู้จักแตงไทยในฐานะผลไม้ชนิดหนึ่ง เพราะยังนิยมกินกันอยู่ โดยเฉพาะขนมประเภทน้ำแข็งใส จะขาดแตงไทยน้ำ(เชื่อม) กะทิไปไม่ได้ เนื่องจากมีกลิ่นและรสชาติพิเศษไม่เหมือนผลไม้อื่น นับว่าแตงไทยน้ำกะทิเป็นขนมยอดนิยมของคนไทยยืนยาวมากว่าร้อยปี และคงนิยมต่อไปอีกนานนอกจากทำขนมแล้ว แตงไทยผลสุกยังนำมากินโดยตรงได้เช่นเดียวกับแตงโม แต่ไม่นิยมเท่าแตงโมเพราะไม่หวานเท่า รวมทั้งไม่นิยมเท่าแตงฝรั่ง(แคนตาลูป) เพราะรสชาติไม่หวานเท่าและเนื้อเละกว่า  อย่างไรก็ตาม แตงไทยก็มีข้อดีตรงที่แข็งแรง ทนทาน ปลูกได้ง่ายกว่า และปลูกได้ตลอดปี สามารถปลูกแบบไม่ใช้สารเคมีเลย(แบบอินทรีย์)ได้ดีกว่าแตงโมหรือแตงฝรั่ง นอกจากนี้แตงไทยยังมีสายพันธุ์หลากหลายมาก มีโอกาสปรับปรุงพันธุ์ให้มีคุณภาพดีได้อีกมาก หากมีการปรับปรุงพันธุ์แตงไทยกันอย่างจริงจังแล้ว อีกไม่นานชาวไทยคงได้กินแตงไทยที่มีรสชาติและคุณสมบัติต่าง ๆ เท่าเทียมหรือดีกว่าแตงฝรั่ง รวมทั้งปลูกได้ตลอดปีโดยไม่ต้องใช้สารเคมีทุกชนิดอีกด้วย
กลิ่นและรสชาติของผลแตงไทยสดยังเหมาะสำหรับทำน้ำแตงไทย เพราะทำได้ง่าย กลิ่นและรสดี สีสวย คุณค่าทางอาหารสูง เนื่องจากมีวิตามินเอสูงมาก นอกจากนี้ยังมีวิตามินซี ธาตุฟอสฟอรัส แคลเซียม ฯลฯ อยู่มากด้วย

คุณค่าทางโภชนาการของแตงไทย แตงไทย ปริมาณ 170 กรัม ให้พลังงานประมาณ 61 กิโลแคลอรี่ และประกอบด้วยสารอาหารต่าง ๆ เช่น คาร์โบไฮเดรต 15 กรัม, ไฟเบอร์ 1.5 กรัม, โปรตีน 1 กรัม. วิตามินซี 34% ของปริมาณสารอาหารที่แนะนําให้บริโภคในแต่ละวัน วิตามินเอ 2% ของปริมาณสารอาหารที่แนะนําให้บริโภคในแต่ละวัน วิตามินบี 6 9% ของปริมาณสารอาหารที่แนะนําให้บริโภคในแต่ละวัน วิตามินเค 4% ของปริมาณสารอาหารที่แนะนําให้บริโภคในแต่ละวัน นอกจากนี้ แตงไทยยังอุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น กรดแกลลิก (Gallic Acid) กรดเอลลาจิก (Ellagic Acid) กรดคาเฟอิก (Caffeic Acid) โพแทสเซียม โฟเลต ไนอาซิน แมกนีเซียม ไทอามีน
เมนูตัวอย่างจากแตงไทย
1. สาคูแตงไทย

ส่วนผสมวัตถุดิบ
1. แตงไทย 1 ลูก             2. สาคูเม็ดเล็ก 160 กรัม
3. กะทิกล่อง 500 กรัม     4. น้ำตาลทราย 160 กรัม
5. เกลือป่น ¼ ชช.

ขั้นตอนวิธีการทำ
1. หั่นแตงไทยให้พอดีคำตามชอบแล้วพักทิ้งไว้
2. ตั้งหม้อแล้วเทกะทิลงไป ตามด้วยน้ำตาลทราย เกลือ คนให้เข้ากันเสร็จแล้วพักทิ้งไว้
3. ตั้งหม้อเทน้ำเปล่าลงไปรอจนเดือด เทสาคูลงไปต้มจนสุกเทน้ำเปล่าเพิ่มแล้วคน ๆ
4. นำสาคูมากรองแล้วนำไปแช่ในน้ำเปล่า มาจัดจานกันเลยตักสาคูลงไป ตามด้วยแตงไทยราดด้วยน้ำกะทิหอม ๆ พร้อมเสิร์ฟได้เลย

2. ไอติมกะทิแตงไทย

ส่วนผสมวัตถุดิบ
1. แตงไทย 1 ลูก             2. น้ำตาลปิ๊บ 3 ช้อนโต๊ะ
3. กะทิกล่อง 1 ถ้วย         4. เกลือป่น ½ ช้อนชา

ขั้นตอนวิธีการทำ
1.เทกะทิลงชามผสม ใส่น้ำตาลปี๊บ เกลือ ลงผสมคนให้เข้ากัน
2.หั่นแตงไทยชิ้นเล็ก ๆ ใส่เครื่องปั่น แล้วเทน้ำกะทิลงตามไป
3.นำไปปั่นจนเข้ากันเทลงในกล่องพลาสติก ปิดฝาแล้วนำไปแช่ฟรีช 5- 6 ชม.
4.  ตักใส่แก้วเสิร์ฟแล้วท็อปปิ้งด้วยชิ้นแตงไทยพร้อมเสิร์ฟ

3. ขนมถ้วยแตงไทย

ส่วนผสมวัตถุดิบ
1. แตงไทย 1 ลูก                 2. แป้งข้าวเจ้า 50 กรัม
3. กะทิกล่อง 500 มิลลิลิตร    4. เกลือป่น ½ ช้อนชา
5. น้ำตาลทรายขาว 80 กรัม   6. มะพร้าวโรยหน้า
7. แป้งมันสำปะหลัง 50 กรัม  8. แป้งท้าวยายม่อม 50 กรัม

ขั้นตอนวิธีการทำ
1. ผสมแป้ง 3 อย่างเข้าด้วยกัน ค่อย ๆ เติมกะทิ นวดให้เป็นเนื้อเดียวกัน
2. เติมน้ำตาลทราย นวดต่อ ให้น้ำตาลละลายหมด แล้วเติมกะทิที่เหลือ คนให้เข้ากัน
3. ใส่เนื้อแตงไทยแล้วบี้ให้เละใส่ผสมลงแป้งแล้วพักขนมไว้ก่อนผสมมะพร้าวขูดกับเกลือ เตรียมไว้โรยหน้า
4. ตั้งไฟกลางไปทางแรง หยอดขนมใส่ถ้วยตะไล โรยมะพร้าว นึ่งให้สุก ใช้เวลาประมาณ 20 นาทีสุกแล้วยกลงรอให้เย็นแคะออกจากถ้วย พร้อมเสิร์ฟ
ประโยชน์ของแตงไทย

แตงไทยมีสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพมากมาย โดยมีงานศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนสรรพคุณของแตงไทยในการส่งเสริมสุขภาพ

1. อาจช่วยส่งเสริมระบบภูมิคุ้มกัน

แตงไทยอุดมไปด้วยวิตามินซี ซึ่งเป็นสารอาหารที่ช่วยส่งเสริมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย ทั้งยังช่วยลดความรุนแรงและระยะเวลาของการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ เช่น โรคไข้หวัดใหญ่ นอกจากนี้ วิตามินเอในแตงไทย ยังช่วยป้องกันร่างกายจากการติดเชื้อและโรคต่าง ๆ ได้ด้วย โดยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Indian Journal of Clinical Biochemistry เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2556 วิจัยเกี่ยวกับสรรพคุณของวิตามินซีในการป้องกันและรักษาโรค พบว่า วิตามินซีจำเป็นต่อการพัฒนาและบำรุงรักษาเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน มีบทบาทสำคัญในการสร้างกระดูก การสมานแผล บำรุงเหงือกให้แข็งแรง ส่งเสริมการทำงานของเมตาบอลิซึม ช่วยกระตุ้นการทำงานวิตามินบี กรดโฟลิก การเปลี่ยนโคเลสเตอรอลเป็นกรดน้ำดี และการเปลี่ยนทริปโตเฟน (Tryptophan) ซึ่งเป็นกรดอะมิโนจำเป็นไปเป็นสารสื่อประสาทอย่างเซโรโนนิน (Serotonin) นอกจากนี้ ยังเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ปกป้องร่างกายจากการทำลายของอนุมูลอิสระ ช่วยปกป้องระบบภูมิคุ้มกัน ลดความรุนแรงของอาการแพ้ ช่วยต่อสู้กับการติดเชื้อ และอาจช่วยลดความเสี่ยงโรคบางชนิด เช่น โรคมะเร็ง โรคหลอดเลือด โรคเบาหวาน โรคทางระบบประสาท
2. อาจช่วยส่งเสริมการย่อยอาหาร
แตงไทยอุดมด้วยไฟเบอร์และน้ำในปริมาณมาก ซึ่งส่งผลดีต่อการทำงานของระบบการย่อยอาหารและลำไส้ ทั้งยังช่วยควบคุมการเคลื่อนไหวของลำไส้ โดยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nutrients เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2563 วิจัยเกี่ยวกับประโยชน์ของใยอาหารต่อสุขภาพ พบว่า การบริโภคใยอาหารเพิ่มขึ้นส่งผลดีต่อการเผาผลาญ ช่วยควบคุมความอยากอาหาร ส่งผลดีต่อสุขภาพลำไส้ การเคลื่อนไหวของลำไส้ สุขภาพทางเดินอาหารและการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ในลำไส้ที่มีหน้าที่ช่วยย่อยอาหาร
3. อาจช่วยลดการอักเสบ
แตงไทยอุดมไปด้วยวิตามินซีและวิตามินเอ ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยต้านการอักเสบจากการทำลายของอนุมูลอิสระในร่างกาย โดยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร The Proceedings of the Nutrition Society เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2545 วิจัยเกี่ยวกับประสิทธิภาพของวิตามินเอในการต้านการอักเสบ พบว่า วิตามินเอมีบทบาทสำคัญต่อการบำรุงรักษาเนื้อเยื่อบุผิว สุขภาพดวงตา การสืบพันธุ์และการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน นอกจากนี้ ยังมีบทบาทช่วยต่อต้านการอักเสบของร่างกาย เช่น สิวอักเสบ โรคหลอดลมอุดกั้นเรื้อรัง ริ้วรอยก่อนวัย สายตาเสื่อมตามอายุ มะเร็งบางชนิด
นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยอีกหนึ่งชิ้นที่ตีพิมพ์ในวารสาร Mini-Reviews in Medicinal Chemistry เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2557 วิจัยเกี่ยวกับกรดแอสคอร์บิก (Ascorbic Acid)ที่มีบทบาทในระบบภูมิคุ้มกันและโรคอักเสบเรื้อรัง พบว่า กรดแอสคอร์บิกหรือวิตามินซี เป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยส่งเสริมระบบภูมิคุ้มกัน ต้านการอักเสบ ต้านไวรัสและแบคทีเรีย
4. อาจช่วยควบคุมน้ำหนัก
แตงไทยเป็นผลไม้ที่มีแคลอรี่ต่ำ อุดมไปด้วยสารอาหารหลายชนิด วิตามินและแร่ธาตุสูง รวมทั้งยังมีปริมาณน้ำและไฟเบอร์สูง ซึ่งอาจมีส่วนช่วยในการลดและควบคุมน้ำหนัก โดยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร The Journal of Nutrition เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2552 วิจัยเกี่ยวกับการบริโภคใยอาหารกับปริมาณน้ำหนักและไขมันในผู้หญิง พบว่า การบริโภคใยอาหารมากขึ้นทั้งใยอาหารแบบละลายน้ำและไม่ละลายน้ำ ส่งผลดีต่อการลดน้ำหนักและไขมันในผู้หญิง
5. อาจช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นและดีต่อสุขภาพผิว
แตงไทยมีน้ำปริมาณมาก ซึ่งช่วยให้ความชุ่มชื้นแก่ร่างกาย และยังอุมดมไปด้วยวิตามินซีที่ดีต่อสุขภาพผิว ช่วยเสริมสร้างคอลลาเจนและป้องกันผิวจากการทำร้ายของแสงแดด โดยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nutrients เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2560 วิจัยเกี่ยวกับบทบาทของวิตามินซีต่อสุขภาพผิว  พบว่า วิตามินซีมีบทบาทสำคัญที่ช่วยกระตุ้นการสังเคราะห์คอลลาเจน และทำหน้าที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระป้องกันความเสียหายของผิวที่เกิดจากการทำร้ายจากรังสียูวีในแสงแดด

ข้อควรระวังในการบริโภคแตงไทย

แตงไทยอาจมีประโยชน์ต่อสุขภาพมากมายแต่อาจไม่เหมาะกับบางคน หรือหากรับประทานมากเกินไปอาจส่งผลเสียต่อร่างกายได้ โดยแตงไทยมีสรรพคุณเป็นยาระบายอ่อน ๆ การรับประทานมากเกินไปอาจทำให้ท้องอืด เกิดแก๊ส และท้องเสียได้ โดยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Ethnopharmacology เมื่อเดือนมิถุนายน

พ.ศ. 2555 วิจัยเกี่ยวกับการใช้สารสกัดจากแตงไทยสำหรับอาการท้องอืดและท้องผูก พบว่า สารสกัดจากแตงไทยอย่างเอทานอล (Ethanol) อาจช่วยเพิ่มการบีบตัวของทางเดินอาหาร ซึ่งอาจส่งผลดีสำหรับอาการท้องอืดและท้องผูก ทั้งนี้ยังต้องมีการศึกษาเพิ่มเติม

นอกจากนี้ การรับประทานแตงไทยมากเกินไปอาจส่งผลให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับกระเพาะอาหาร ทั้งยังไม่เหมาะกับผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงและผู้ป่วยโรคหัวใจ เนื่องจากแตงไทยมีโพแทสเซียมสูง ซึ่งอาจส่งผลต่อการทำงานของระบบหัวใจและหลอดเลือดได้ ดังนั้น อาจต้องรับประทานแตงไทยในประมาณที่เหมาะสม หรือปรึกษาคุณหมอก่อนรับประทาน



Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Search

About

อาหารล้านนาชวนให้ลิ้มลองรสชาติความอร่อยที่ผสมผสานความเผ็ด เค็ม หวาน และเปรี้ยวได้อย่างลงตัว สะท้อนวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชาวล้านนาที่เรียบง่ายแต่แฝงไปด้วยความอุดมสมบูรณ์

Tags

There’s no content to show here yet.

Gallery