admin@phraefoodthailand.com

ยินดีต้อนรับสู่เว็บไซต์ อาหารจังหวัดแพร่


“เมี่ยงหวาน” เป็นการผสมผสานระหว่างเมี่ยงที่ชาวเหนือชอบกินเข้ากับ “เมี่ยงคำ” ที่นิยมรับประทานกันในภาคกลาง โดยนำใบเมี่ยงมาห่อถั่ว มะพร้าวคั่ว และน้ำตาลปี๊บ ซึ่งความหอมมันของถั่วและมะพร้าวคั่ว ประกอบกับความหวานของน้ำตาลปี๊บจะช่วยปรับรสชาติของใบเมี่ยงที่ฝาดเฝื่อน ให้สามารถรับประทานได้ง่ายขึ้น แม้กับผู้ที่ไม่เคยเคี้ยวใบเมี่ยงมาก่อน

วัฒนธรรมการกินเมี่ยงของชาวเหนือ เมี่ยง หรือใบชาของคนเหนือ เป็นอาหารว่างของชาวเหนือในอดีต ที่ทุกบ้านจะมีเมี่ยงไว้เป็นของกินและใช้ต้อนรับแขกหรือญาติที่มาเยี่ยมเยือนโดยมีห่อเมี่ยงคู่กับขันหมากและโป้ยาขื่น (กระป๋องยาสูบ) โดยแขกจะแกะห่อเมี่ยงแล้วกินเมี่ยงที่เจ้าของบ้านต้อนรับแล้วจึงพูดคุยปรึกษาเรื่องราวต่าง ๆ การกินเมี่ยงของคนเหนือ บางคนจะกินเมี่ยงคู่กับสูบปูรี (บุหรี่) หลังอาหาร บางคนที่ไม่สูบบุหรี่ก็กินเมี่ยง เมี่ยงยังมีความสำคัญในการจัดงานบุญหรือพิธีกรรมทางพุทธศาสนาทุกอย่างในภาคเหนือ เช่น งานทำบุญขึ้นบ้านใหม่ งานบวช งานฉลององค์ผ้าป่า และกฐิน หรืองานศพ ชาวบ้านที่ไปช่วยงานนอกจากช่วยเตรียมสถานที่ เตรียมดอกไม้ในพิธีสงฆ์ เตรียมอาหารแล้ว ที่ขาดไม่ได้คือช่วยกันทำเมี่ยงสำหรับต้อนรับแขกที่มาร่วมงาน

เมี่ยง ความหมายตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 หมายถึง “ของกินเล่นที่ใช้ใบไม้บางชนิด เช่น ใบชาหมัก ใบชะพลู ใบทองหลาง ห่อเครื่องที่มีถั่วลิสงมะพร้าว กุ้งแห้ง หัวหอม ขิง เป็นต้น มีหลายชนิด เรียกชื่อต่างๆ กัน เช่น เมี่ยงคำ เมี่ยงลาว เมี่ยงส้ม” และอีกความหมายหนึ่งก็คือ “ต้นชา” เป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการนำเอาใบชาที่มัดรวมเป็นก้อนไปผ่านการนึ่งและแช่ในถังหมักให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีลักษณะเป็นการหมักดองใบชา

วิธีการกินเมี่ยงคือ แกะห่อเมี่ยงหมักได้ที่มีรสเปรี้ยวแกมฝาดมาวางแผ่ออก อาจจะซ้อนใบเมี่ยง 2-3 ชั้น หนาหรือบางแล้วแต่ต้องการ ใส่เกลือเม็ดและขิงลงบนใบเมี่ยงกะให้ออกรสเค็มพอถูกปาก แล้วจึงจับใบเมี่ยงพับเข้าหากัน ห่อม้วนเป็นคำแล้วหยิบใส่ปากใช้อมเป็นอันเสร็จขบวนการกินเมี่ยง
การกินเมี่ยงจะกินเมี่ยงเปล่า ๆ หรือจะใส่ไส้ลงไปกินคู่กันด้วยก็ได้ ซึ่งไส้เมี่ยงแบบดั้งเดิมเขาจะใส่แค่เกลือเม็ดและขิงเท่านั้น แต่ในสมัยนี้เขาใส่ทั้งขิงดอง มะพร้าวคั่ว และถั่วลิสงคั่ว แถมยังมีการห่อเป็นคำ ๆ มีขายทั้งแบบเปรี้ยวและแบบหวาน สามารถเคี้ยวกลืนได้ทั้งหมด ไม่ต้องคายกากทิ้งหรือบ้วนน้ำทิ้งเหมือนกินหมากอีกแล้ว

คุณค่าทางโภชนาการของเมี่ยงเพียง 5 คำ ในหนึ่งวัน ปริมาณเมี่ยงคำ จำนวน 8 คำ = 100 กรัม 

พลังงาน 320 กิโลแคลอรี โคเลสเตอรอล 36 มิลลิกรัม โปรตีน 8.4 กรัม  โซเดียม 441 มิลลิกรัม ไขมัน 16.8 กรัม แคลเซียม 92 มิลลิกรัม คาร์โบไฮเดรด 33.5 กรัม เหล็ก 3.1 มิลลิกรัม ใยอาหาร 7.3 กรัม

ส่วนผสมวัตถุดิบ
1. ใบชา 2. น้ำหมัก
ขั้นตอนวิธีการทำ
1. เก็บใบชา
2. เลือกเอาใบชาที่สดและมีขนาดใหญ่มามัดรวมกัน
3. ให้ใบชาย่อยสลายเองในขั้นแรกๆ ของการผลิต
4. ใบชาที่มัดรวมกันสามารถนำไปหมักได้หลายสัปดาห์หรือหลายเดือน ขึ้นอยู่กับเทคนิกของแต่ละคน
5. ขั้นตอนการหมักเสร็จสิ้นแล้ว เท่านี้เมี่ยงก็พร้อมสำหรับนำไปขายในตลาดท้องถิ่น
ประโยชน์ของเมี่ยง
1. ใบชะพลู มีสรรพคุณ บำรุงธาตุน้ำ ช่วยขับลม ป้องกันกรดไหลย้อน
2. มะพร้าว มีสรรพคุณ บำรุงธาตุดิน บำรุงกระดูก
3.ถั่วลิสง มีสรรพคุณ บำรุงธาตุดิน บำรุงเอ็น
4. กุ้งแห้ง มีสรรพคุณ บำรุงธาตุดิน บำรุงผิวหนัง
5. หอมแดง มีสรรพคุณ บำรุงธาตุลม แก้ไข้หวัด
6. พริก มีสรรพคุณ บำรุงธาตุลม ช่วยย่อยอาหาร บรรเทาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ
7. มะนาว มีสรรพคุณ บำรุงธาตุน้ำ ขับเสมหะ
8. เปลือกมะนาว มีสรรพคุณ บำรุงธาตุไฟ ช่วยขับลม
9. ขิง มีสรรพคุณ บำรุงธาตุไฟ แก้อาเจียน
10. น้ำตาลมะพร้าว มีสรรพคุณ บำรุงธาตุดิน บำรุงกำลัง

ข้อควรระวังในการทานเมี่ยงคำ
1. จำกัดปริมาณจำนวนคำในแต่ละวัน

2. ไม่ควรทานใบะพลูจำนวนมากทุกวัน เพื่อป้องกันผลึกแคลเซียมออกซาเลต อันเป็นสาเหตุของโรคนิ่วในไต หรือ ปัญหาทางเดินปัสสาวะ



Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Search

About

อาหารล้านนาชวนให้ลิ้มลองรสชาติความอร่อยที่ผสมผสานความเผ็ด เค็ม หวาน และเปรี้ยวได้อย่างลงตัว สะท้อนวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชาวล้านนาที่เรียบง่ายแต่แฝงไปด้วยความอุดมสมบูรณ์

Tags

There’s no content to show here yet.

Gallery