
แกงผักเฮือด
แกงผักเฮือด เป็นแกงผักพื้นบ้าน ที่นิยมแกงใส่หมู จะเป็นซี่โครงหมู หรือกระดูกหมู หมูสับ หมูสันใน หรือสันคอหมู แล้วแต่ชอบ บางสูตรนิยมใส่มะขามเปียกเป็นเครื่องปรุงด้วย (ประทุม อุ่นศรี, สัมภาษณ์, 25 มิถุนายน 2550) ผักเฮือดคือไม้ป่ายืนต้นขนาดใหญ่ ขนาดต้นโพธิ์ หรือต้นไทร บางต้นมีอายุยืนยาวเป็นร้อยปีขึ้นไป ต้นผักเฮือดมักจะขึ้นอยู่ตามป่าโปร่ง หรือป่าผลัดใบในภาคเหนือที่อยู่สูงกว่า ระดับน้ำทะเลประมาณ 1200-1400 เมตร ซึ่งเมื่อถึงปลายหนาวเข้าสู่ฤดูร้อน จะเป็นช่วงที่ต้นไม้ผลัดใบจนเหลือแต่กิ่งก้านโล้นๆ แล้วก็จะเริ่มแตกยอดอ่อนขึ้นมา ซึ่งผักเฮือดก็คือส่วนของยอดอ่อน หรือ ตาใบที่เพิ่งแทงยอดขึ้นมา ยอดอ่อนที่แตกออกมาตอนปลายหนาวต่อร้อน ชาวบ้านเก็บเอามากินเป็นผักสดก็มี ทำกับข้าว ชาวเหนือมักจะนำมาแกงใส่กระดูกซี่โครงหมู แกงใส่ปลา หรือนำไปลวก นึ่ง ทำผักลวกราดกะทิ หรือทำผักดอง เป็นผักเคียงจิ้มน้ำพริกเป็นต้น |
คุณค่าทางโภชนาการ ยอดผักเฮือก มีรสชาติแปลกลิ้นเมื่อปรุงเป็นอาหารการกินแล้ว แต่รสชาติที่เป็นต้นตำรับของยอดอ่อนผักเฮือก คือมีรสฝาด มัน เปรี้ยว ในประมาณยอดอ่อนผักเฮือก 1 ขีด หรือ 100 กรัม มีคุณค่าให้พลังงานต่อร่างกาย 39 กิโลแคลอรี ประกอบด้วย เส้นใยอาหาร 1.5 กรัม ฟอสฟอรัส 84 มิลลิกรัม แคลเซียม 55 มิลลิกรัม เหล็ก 2.1 มิลลิกรัม วิตามินเอ 6375 IU.วิตามินบีหนึ่ง 10.01 มิลลิกรัม ไนอะซิน 0.8 มิลลิกรัม วิตามินซี 1.0 มิลลิกรัม |
ส่วนผสมเครื่องแกง 1. พริกแห้ง 10 เม็ด 2. กระเทียม 5 กลีบ 3. หอมแดง 3 หัว 4. เม็ดผักชี 1/2ช้อนโต๊ะ 5. ปลาร้าบด หรือ กะปิ 1/2 ช้อนโต๊ะ 6. เกลือ ส่วนผสมวัตถุดิบ 1. ยอดอ่อน ผักเฮือด/ผักฮี้ 2. หมู เนื้อหมู/กระดูกหมู/ซี่โครงหมู 3. มะเขือเทศ |
ขั้นตอนการทำ ขั้นตอนที่ 1 นำเครื่องแกงมาผัดกับหมูให้หอม เติมน้ำเปล่า 1 ถ้วย รอเดือด ขั้นตอนที่ 2. ใส่ผักเฮือด รอสุก ใส่มะเขือเทศ ปรุงรสตามใจชอบด้วยน้ำปลา |
ประโยชน์ของผักเฮือด ใบผักเฮือกมีวิตามีนซีสูง แก้หวัด แก้ไข้ แก้แพ้อากาศ ป้องกันโรคเหน็บชา บำรุงผิวพรรณ ขจัดริ้วรอยจุดด่างดำที่ผิวหนัง มีกากใยอาหารสูงมาก ช่วยระบบขับถ่าย แก้ท้องผูก ป้องกันการเกิดมะเร็งลำไส้ มีแคลเซียมสูง ช่วยบำรุงกระดูกและฟัน ไม่ให้ผุกร่อนได้ง่าย ข้อควรระวัง ข้อแนะนำสำหรับสตรีมีลูกน้อย แม่ลูกอ่อนที่มีอาการไอ ห้ามกินผักเฮือก มันจะทำให้ไอกำเริบ |