admin@phraefoodthailand.com

ยินดีต้อนรับสู่เว็บไซต์ อาหารจังหวัดแพร่


แกงผักปั๋ง ผักปลัง

ผักปลัง เป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในแถบแอฟริกา และมีการกระจายพันธุ์ในทวีปเอเชีย เช่น จีน ญี่ปุ่น พม่า ลาว กัมพูชา เป็นต้น ในประเทศไทย เป็นพืชซึ่งพบได้ทั่วไป แทบทุกภาค ทั้งชนิดที่มีลำต้นสีเขียว ที่เรียกว่า ผักปลังขาว และชนิดลำต้นสีแดง ซึ่งเรียกกันว่า ผักปลังแดง และมักพบในหมู่บ้าน หรือตามทุ่งนามากกว่าในป่า พบมากในภาคเหนือ และอีสาน ส่วนภาคใต้ไม่ค่อยพบ เพราะไม่เป็นที่นิยมในการรับประทาน จึงไม่มีการปลูกไว้ตามบ้านเรือน
ลักษณะทั่วไปผักปลัง
เป็นไม้เถาเลื้อยล้มลุก ลำต้นอวบน้ำ เกลี้ยง กลม แตกกิ่งก้านสาขา ยาวประมาณ 2-6 เมตร ถ้าลำต้นมีสีเขียว เรียกว่า “ผักปลังขาว” มีใบสีเขียวเข้ม ส่วนชนิดลำต้นสีม่วงแดง เรียกว่า “ผักปลังแดง” มีใบสีเขียวเข้ม ก้านใบสีม่วงแดง ใบ เป็นใบเดี่ยว ออกสลับ รูปไข่ หรือรูปหัวใจ ใบกว้าง 2-8 เซนติเมตร ยาว 2.5-12 เซนติเมตร ใบอวบน้ำ มีลักษณะเป็นมันหนานุ่มมือ ฉีกขาดง่าย หลังใบ และท้องใบเกลี้ยง ไม่มีขน ขยี้จะเป็นเมือกเหนียว ปลายใบแหลม โคนใบรูปหัวใจ ขอบใบเรียบ ก้านใบยาว 1-3 เซนติเมตร ดอก เป็นดอกช่อเชิงลด ออกตรงซอกใบ ยาว 3-21 เซนติเมตร ดอกย่อยจำนวนมาก ขนาดเล็ก ไม่มีก้านชูดอก แต่ละดอกมี 5 กลีบ ผักปลังขาว ออกดอกสีขาว ผักปลังแดง ออกดอกสีม่วงแดง ยาวประมาณ 4 มิลลิเมตร มีใบประดับเล็ก 2 ใบ ติดที่โคนของกลีบรวม กลีบรวมรูประฆัง ยาว 0.1-3 มิลลิเมตร โคน เชื่อมติดกันเป็นท่อ ปลายแยกเป็นห้าแฉกเล็กน้อย ผล เป็นผลสด รูปร่างกลมแป้น ฉ่ำน้ำ เส้นผ่านศูนย์กลาง 5-6 มิลลิเมตร ผิวเรียบ ปลายผลมีร่อง แบ่งเป็นลอน ไม่มีก้านผล ผลอ่อนสีเขียว ผลแก่ มีสีม่วงอมดำ เนื้อภายในนิ่ม ภายในผลมีน้ำสีม่วงดำ เมล็ดเดี่ยว ผักปลังมีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ผักปั๋ง ผักปั่ง (ภาคเหนือ), ผักปลังใหญ่ ผักปลังขาว ผักปลังแดง (ภาคกลาง), ผักปรัง ผักปรังใหญ่ (ไทย), เดี้ยจุ่น (เมี่ยน), มั้งฉ่าง (ม้ง), เหลาะขุ้ย โปแดงฉ้าย (แต้จิ๋ว), ลั่วขุย (จีนกลาง) เป็นต้น การนำผักปลังมาปรุงอาหาร นิยมนำมาลวก หรือต้มให้สุก ใช้รับประทานร่วมกับน้ำพริก เช่น น้ำพริกอ่อง พริกตาแดง น้ำพริกดำ เป็นต้น หรือนำไปประกอบอาหาร เมนูดอกผักปลัง เช่น ใส่แกงจืดหมูสับ แกงแค แกงเลียง แกงส้ม แกงใส่อ่อมหอย แกงปลา ผัดกับ แหนม ผัดน้ำมัน ผัดใส่ไข่ ชาวล้านนา จะนิยมนำยอดอ่อน และดอกอ่อนมาใช้เป็นส่วนผสมในการปรุงอาหารประเภท จอ ที่เรียกว่า จอผักปลัง หรือ จอผักปั๋ง
คุณค่าทางโภชนาการ

ข้อมูลโภชนาการ, แคลอรี่, พลังงาน และสารอาหาร ในผักปลัง 100 กรัม หรือ 1 ขีด ให้พลังงาน 21 กิโลแคลอรี ประกอบด้วย เส้นใยอาหาร 0.8 กรัม ฟอสฟอรัส 50 มิลลิกรัม แคลเซียม 4 มิลลิกรัม เหล็ก 1.5 มิลลิกรัม วิตามินเอ 9 มิลลิกรัม. วิตามินบีหนึ่ง 0.07 มิลลิกรัม วิตามินบีสอง 0.2 มิลลิกรัม วิตามินซี 26 มิลลิกรัม ไนอะซิน 1.1 มิลลิกรัม

ส่วนผสมเครื่องแกง
1. พริกชี้ฟ้าแดง กรีดเมล็ดออก 5 เม็ด 2. เกลือป่น 1 ช้อนชา
3. หอมแดงซอย  3 ช้อนโต๊ะ 4. กะปิ 1 ช้อนชา
ส่วนผสมวัตถุดิบ (สำหรับ 4 ที่)
1. ดอกผักปลัง 3 ถ้วย  2. แหนม บี้ให้เป็นชิ้นเล็ก 1/2 ถ้วย
3. มะเขือส้ม 1 ถ้วย      4. น้ำเปล่า 1/2 ถ้วย
5. น้ำมะนาว 1/2-1 ช้อนโต๊ะ  6.น้ำปลา 2 ช้อนโต๊ะ
ขั้นตอนการทำ
ขั้นตอนที่ 1. ตำเครื่องแกงให้ละเอียด
ขั้นตอนที่ 2. ใส่น้ำในหม้อ ตั้งไฟ พอเดือดใส่เครื่องแกงและแหนม ต้มจนสุก ใส่ มะเขือส้ม ต้มจนสุกนุ่ม เร่งไฟ ใส่ผักปลัง ต้มจนสุก ปิดไฟ
ขั้นตอนที่ 3. ชิมและปรุงรสด้วยน้ำปลา น้ำมะนาว
ประโยชน์และสรรพคุณ
ผักปลัง สรรพคุณ มากมาย และมีคุณค่าทางอาหาร ได้แก่ แคลเซียม และธาตุเหล็กสูง และยังอุดมไปด้วยวิตามินเอ วิตามินบี และวิตามินซี มีสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยชะลอวัย เมือกของดอกปลัง มีสรรพคุณช่วยในเรื่องการขับถ่ายได้ดี เป็นยาระบายอ่อน ๆ บำรุงสายตา ช่วยป้องกันอาการอ่อนเพลีย

ตำรายาไทยโบราณ ใช้ทาแก้กลากเกลื้อน แก้โรคเรื้อน ดับพิษฝีดาษ แก้เกลื้อน คั้นเอาน้ำทาแก้หัวนมแตกเจ็บ ต้นงผักปลัง แก้อึดอัดแน่นท้อง ระบายท้อง แก้อักเสบบวม ต้มดื่มแก้ไส้ติ่งอักเสบ รากผักปลัง แก้รังแค แก้โรคผิวหนัง แก้ท้องผูก แก้พรรดึก ขับปัสสาวะ ใช้ทาถูนวดให้ร้อน เป็นผักที่มีเมือกมาก กินแล้วช่วยระบาย



Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Search

About

อาหารล้านนาชวนให้ลิ้มลองรสชาติความอร่อยที่ผสมผสานความเผ็ด เค็ม หวาน และเปรี้ยวได้อย่างลงตัว สะท้อนวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชาวล้านนาที่เรียบง่ายแต่แฝงไปด้วยความอุดมสมบูรณ์

Tags

There’s no content to show here yet.

Gallery