
ยำกบ
กบ เป็นสัตว์สี่เท้า ซึ่งอยู่ได้ทั้งบนบกและน้ำหรือเป็นสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกนั่นเอง ลักษณะทั่วไปของกบคือ มีผิวหนังขรุขระ ไม่มีเกล็ดหรือขน ผิวหนังกบจะสร้างเมือกเพื่อปกป้องผิวจากความแห้งและรักษาผิวหนังให้ชุ่มชื้นอยู่เสมอ จึงทำให้มักพบกบอยู่ทั่วไปตามแหล่งน้ำหรือที่ชุ่มชื้นต่าง ๆ กบไม่มีคอและหาง ขาหน้าสั้น ขาหลังยาวและแข็งแรงทำให้กระโดดได้ไกล นิ้วเท้ากบมีพังผืดบาง ๆ ช่วยให้ว่ายน้ำได้เป็นอย่างดี กบมีตาที่กลมโตและโปนชัดเจน ที่หนังตามีเยื่อทำหน้าที่คอยปิดเปิดดวงตา มีหูข้างหลังดวงตาและมีจมูกอยู่ด้านหน้า สามารถหายใจได้โดยใช้ปอดและผิวหนังในประเทศไทยพบกบมากถึง 38 ชนิดแต่ชนิดที่พบโดยทั่ว ๆ คือ กบบัว กบนา กบจานและกบภูเขา ปัจจุบันกบจัดเป็นสัตว์เศรษฐกิจชนิดหนึ่งเพราะคนไทยเองก็รับประทานกบมาอย่างช้านาน และยังมีต่างประเทศหลาย ๆ ประเทศนิยมรับประทานกบอีกเช่นกัน จึงทำให้กบเป็นสินค้าส่งออกที่สร้างรายได้ให้เกษตรกรเป็นอย่างดี จนบางครั้งมีความต้องการเนื้อกบมากจนขาดตลาด
ชนิดของกบที่ทานได้ กบในประเทศมีมากกว่า 30 ชนิดแต่ชนิดที่นิยมเพาะเลี้ยงและนำมารับประทานมีหลักๆ เพียงแค่ 3 ชนิดคือ 1. กบนา เป็นกบขนาดกลาง น้ำหนักเมื่อโตเต็มที่ประมาณ 200-400 กรัม มีสีน้ำตาลปนดำ ตัวเมียมีขนาดใหญ่กว่าตัวผู้ มักพบตามนาข้าว โดยพบได้ทุกภาคในประเทศไทย ถือเป็นสัตว์เศรษฐกิจชนิดหนึ่งที่นิยมบริโภคมาช้านาน 2. กบจาน มีขนาดใหญ่กว่ากบนา น้ำหนักเมื่อโตเต็มที่อยู่ที่ประมาณ 250-450 กรัม มีสีน้ำตาลปนเขียว น้ำหนักเฉลี่ยประมาณ 49 ตัวต่อหนึ่งกิโลกรัม ปัจจุบันมีการเพาะเลี้ยงส่งออกไปขายยังต่างประเทศเป็นจำนวนมาก 3. กบภูเขา เป็นกบขนาดใหญ่ที่สุดที่พบได้ในประเทศไทย และใหญ่เป็นอันดับสองของโลก ยาวประมาณ 1 ฟุตและหนักมากกว่า 5 กิโลกรัม พบได้ตามภูเขาสูง ผิวสีน้ำตาลแดง ชอบหากินตอนกลางคืน ปัจจุบันเป็นกบที่หายากชนิดหนึ่งในสภาพธรรมชาติ จึงจัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง แต่สามารถเพาะพันธุ์จนเป็นสัตว์เศรษฐกิจได้แล้วตอนนี้ |
ยำกบ เป็นอาหารประเภทยำ ที่นำเอาส่วนผสมที่เป็นของที่สุกแล้ว ลงไปผสมกับเครื่องปรุง ถือเป็นอาหารชั้นดีชนิดหนึ่ง เช่นเดียวกับยำจิ๊นไก่ แต่ไม่นิยมทำเลี้ยงในงานบุญ หรืองานพิธี อาจะเป็นเพราะกบมีราคาแพง และหายากกว่าไก่ เครื่องปรุงมีมากกว่ายำจิ๊นไก่ เพื่อดับกลิ่นคาวของกบ ได้แก่ ข่า มะแขว่น เพิ่มตะไคร้ลงในเครื่องแกงด้วย บ้างนำพริกลาบ หรือเครื่องปรุงลาบ มาเป็นเครื่องปรุง (สิรวิชญ์ จำรัส, สัมภาษณ์, 15 พฤษภาคม 2550)
คุณค่าทางโภชนาการ ในเนื้อกบ 100 กรัม จะให้พลังงานทั้งหมด 99 กิโลแคลอรี โดยได้จากโปรตีน 89.2 กิโลแคลอรี ไขมัน 3.6 กิโลแคลอรีและคาร์โบไฮเดรต 1.2 กิโลแคลอรี จัดว่าเป็นอาหารที่ดีต่อร่างกายโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ออกกำลังกายเพื่อสร้างกล้ามเนื้อหรือผู้ที่กำลังควบคุมน้ำหนัก สำหรับสารอาหารหลักในเนื้อกบก็เหมือนกับเนื้อสัตว์อื่น ๆ ซึ่งก็คือ ให้โปรตีนมาก ในเนื้อกบ 100 กรัมให้โปรตีนสูงถึง 22 กรัม แต่กลับมีปริมาณไขมันต่ำมากเพียง 0.4 กรัมเท่านั้น |
ส่วนผสมเครื่องแกง 1. พริกขี้หนูแห้ง 7 เม็ด 2. มะแขว่นคั่ว 1 ช้อนชา 3. ดีปลีคั่ว 1 ผล 4. เม็ดผักชีคั่ว 1 ช้อนชา 5. กะปิ 1 ช้อนชา 6. ปลาร้าต้มสุก 1 ช้อนชา 7. เกลือ 1 ช้อนชา ส่วนผสมวัตถุดิบ 1. กบย่างไฟ 200 กรัม 2. ข่า 5 แว่น 3. ตะไคร้ 1 ช้อนโต๊ะ 4. ใบมะกรูด 5 ใบ 5. ผักไผ่ 1 ช้อนโต๊ะ 6. สะระแหน่ 1 ช้อนโต๊ะ 7. ผักชี 1 ช้อนโต๊ะ 8. ต้นหอม 1 ช้อนโต๊ะ 9. ผักชีฝรั่ง 1 ช้อนโต๊ะ 10. กระเทียมสับ 1 ช้อนโต๊ะ 11. หอมแดงซอย 2 ช้อนโต๊ะ 12. น้ำมันพืช 2 ช้อนโต๊ะ |
ขั้นตอนการทำ ขั้นตอนที่ 1. สับกบย่างเป็นชิ้นขนาดพอคำ ขั้นตอนที่ 2. โขลกเครื่องแกงรวมกันให้ละเอียด ขั้นตอนที่ 3. เจียวกระเทียมกับน้ำมัน ใส่เครื่องแกงลงผัดให้หอม ขั้นตอนที่ 4. ใส่น้ำ พอเดือด ใส่ข่า ตะไคร้ และใบมะกรูด ขั้นตอนที่ 5. ใส่หอมแดงซอย ใส่เนื้อกบ ขั้นตอนที่ 6. โรยด้วยผักชีต้นหอม ผักชีฝรั่ง ผักไผ่ และสะระแหน่ |
ประโยชน์ของกบ-เนื้อกบ 1. ประโยชน์ของกบเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่สร้างรายได้อย่างดีให้กับประเทศ 2. ใช้ประโยชน์จากกบในการวิทยาศาสตร์และการแพทย์ การนำกบมาทดลองหรือวิจัยยาต่าง ๆ จากสารบนผิวหนังกบ 3. ประโยชน์จากอวัยวะอื่น ๆ ของกบเช่น หนังกบใช้ทำเครื่องดนตรี กระเป๋า รองเท้า กระดูกนำมาบดผสมอาหารสัตว์และทำปุ๋ย เป็นต้น 4. ประโยชน์ของกบเป็นสัตว์เลี้ยง กบบางสายพันธุ์มีสีสันสวยงามจนจนถูกนำมาเลี้ยงเพื่อความเพลิดเพลิน |
ข้อควรระวังในการรับประทานเนื้อกบ |
ผู้ที่เป็นโรคไตไม่ควรรับประทานมาก เนื่องจากกบสามารถรับประมาณได้ทั้งกระดูก การรับประทานเนื้อสัตว์ทั้งกระดูกทำให้ได้รับฟอสฟอรัสสูง ผู้ป่วยโรคไตมักมีปัญหาในการขับฟอสฟอรัสออกจากร่างกาย จึงทำให้ฟอสฟอรัสคั่งในเลือด หากมีปริมาณฟอสฟอรัสในร่างกายสูงมากเกินไป อาจจะทำให้กระดูกบางและเปราะ คันตามผิวหนัง หลอดเลือดแดงแข็ง ก้อนแคลเซียมเกาะตามเนื้อเยื่อต่าง ๆ และเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้