
ตำส้มโอ
ตำส้มโอ หรือตำบ่าโอ เป็นตำรับอาหาร ที่มีวิธีการปรุง ที่เรียกว่า ตำ คือการนำเอาส่วนผสม คือส้มโอ แล้วนำมาโขลกรวมกันเครื่องปรุง คลุกเคล้าให้เข้ากัน นิยมใส่น้ำปู เพื่อเพิ่มรสชาติ บางสูตรนิยมใส่ผักชีฝรั่ง (รัตนา พรหมพิชัย, 2542, p. 2410 ; ประทุม อุ่นศรี, สัมภาษณ์, 26 มิถุนายน 2550) ตำส้มโอน้ำปูเป็นอาหารประเภทยำผักผลไม้ที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวเหนือ เป็นการนำส้มโอ ซึ่งเป็นผลไม้รสเปรี้ยว มาปรุงรสด้วยน้ำปู ซึ่งถือเป็นเครื่องชูรสชั้นเยี่ยมของชาวเหนือ และสมุนไพรสด ซึ่งนอกจาก รสอร่อยกลมกล่อมแล้วยังมีคุณสมบัติในการสมานท้อง ส้มโอ (Pomelo) ชื่ออื่น ๆ คือ โกรัยตะลอง มะขุน มะโอ ส้มมะโอ ลีมาบาลี สังอู เป็นพืชที่ผลมีขนาดใหญ่ที่สุดในตระกูลส้ม มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Citrus maxima คนไทยนิยมรับประทานในช่วงหน้าร้อน เนื่องจากมีรสชาติเปรี้ยวอมหวาน มีวิตามินซีสูง เป็นผลไม้ที่มีน้ำมาก ช่วยบรรเทาอาการกระหายน้ำได้ดี ถิ่นกำเนิดของส้มโออยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่วนในประเทศที่อยู่ภูมิภาคใกล้ ๆ กันอย่างประเทศจีน เชื่อว่าส้มโอเป็นผลไม้มงคลที่จะต้องนำขึ้นโต๊ะเมื่อมีเทศกาลต่าง ๆ หลังไหว้เสร็จหากผ่าออกแล้วเป็นผลแห้งหมายถึงจะโชคดีตลอดทั้งปี |
ลักษณะทางกายภาพของส้มโอ |
ส้มโอมีผลรูปทรงกลมหรือรูปแพร์ เส้นผ่านศูนย์กลาง 11-17 เซนติเมตร บริเวณขั้วผลนูนขึ้นเป็นกระจุก ผลอ่อนมีสีเขียวพอแก่มีสีเขียวอมเหลือง เปลือกผลหนา 1-2 เซนติเมตร ผิวผลเรียบ มีต่อมน้ำมันมาก ข้างในมีเยื่อสีขาวหรือสีชมพู ลักษณะหยุ่นนุ่ม รสหวาน ขมเล็กน้อย ภายในผลเป็นช่อง ๆ กั้นด้วยแผ่นใยบางสีขาว
คุณค่าทางโภชนาการ คุณค่าทางโภชนาการตำส้มโอนี้ พลังงาน 250 กิโลแคลอรี่, โปรตีน 10.2 กรัม, ไขมัน 6.1 กรัม, คาร์โบไฮเดรต 42.8 กรัมและวิตามินอื่น ๆ ส้มโอเป็นผลไม้ที่ให้พลังงานน้อย และเป็นแหล่งของโปแตสเซียม (Potassium) ซึ่งเป็นแร่ธาตุชนิดหนึ่งที่มีความจำเป็นต่อร่างกาย มีบทบาทสำคัญในการช่วยให้การทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกายเป็นปกติ เช่น ระบบประสาทและกล้ามเนื้อ, ช่วยปรับสมดุลของกรด-เบสในร่างกาย, ป้องกันภาวะกรดเกิน, ช่วยควบคุมความดันโลหิตที่สูง, ลดความเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือด ส้มโอ 100 กรัม ให้พลังงาน 38 กิโลแคลอรี มีคุณค่าทางโภชนาการดังนี้ คาร์โบไฮเดรต 9.62 กรัม โปรตีน 0.76 กรัม ไขมัน 0.04 กรัม ใยอาหาร 1 กรัม แคลเซียม 4 มิลลิกรัม ธาตุเหล็ก 0.11 มิลลิกรัม ฟอสฟอรัส 17 มิลลิกรัม โพแทสเซียม 216 มิลลิกรัม โซเดียม 1 มิลลิกรัม แมกนีเซียม 6 มิลลิกรัม สังกะสี 0.08 มิลลิกรัม แมงกานีส 0.017 มิลลิกรัม วิตามินซี 61 มิลลิกรัม |
ส่วนผสมเครื่องแกง ไม่มี ส่วนผสมวัตถุดิบ 1. ส้มโอ 200 กรัม 2. พริกขี้หนู 7 เม็ด 3. กระเทียม 5 กลีบ 4. มะเขือเปราะซอย 3 ลูก 5. ตะไคร้ซอย 2 ช้อนโต๊ะ 6. น้ำตาลปี๊บ 1 ช้อนโต๊ะ 7. ปลาร้าต้มสุก 2 ช้อนโต๊ะ 8. น้ำปู 1/2 ช้อนชา |
ขั้นตอนการทำ ขั้นตอนที่ 1. โขลกกระเทียม พริกขี้หนู พอแตก ขั้นตอนที่ 2. ใส่ปลาร้า น้ำตาลปี๊บ น้ำปู โขลกให้เข้ากัน ขั้นตอนที่ 3. ใส่ส้มโอลงโขลกเบา ๆ และคลุกเคล้าให้เข้ากัน ขั้นตอนที่ 4. ใส่ตะไคร้ซอย ขั้นตอนที่ 5. ใส่มะเขือเปราะซอย * โขลกเครื่องปรุงให้เข้ากันก่อน จึงใส่ส้มโอลง โขลกเบา ๆ ถ้าโขลกแรงจะทำให้มีน้ำส้มโอมาก เลือกส้มโอที่แก่จัด จะไม่มีรสขม |
สรรพคุณของส้มโอ |
1. ลดความเสี่ยงจากโรคหัวใจ การรับประทานเป็นประจำจะช่วยชะลอและลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจได้ ผลวิจัยระบุว่า สารชนิดหนึ่งในน้ำมันที่สกัดจากส้มโอมีสรรพคุณช่วยยืดอายุของเซลล์เยื่อบุหลอดเลือด และต้านอนุมูลอิสระที่เป็นสาเหตุของโรคหัวใจได้เป็นอย่างดี
2. บำรุงตับ มีงานวิจัยฉบับหนึ่งได้รายงานว่า สารสกัดจากใบส้มโอแบบแคปซูลมีฤทธิ์ช่วยลดการสะสมสารพิษในตับ และต่อต้านฤทธิ์ของแอลกอฮอล์และสารคาร์บอนเตตระคลอไรด์ (Carbon tetrachloride) ซึ่งเป็นสารพิษที่ทำลายตับโดยตรง และตับไม่สามารถกำจัดออกได้เอง
3. รักษาเบาหวาน มีงานวิจัยระบุว่า สารสกัดจากส้มโอสามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ หากรับประทานในปริมาณที่เหมาะสม 4. ลดอาการเบื่ออาหาร รสชาติเปรี้ยวอมหวานจากผลไม้ชนิดนี้จะช่วยกระตุ้นให้เกิดความอยากอาหารมากขึ้น ลดอาการเบื่ออาหารได้
5. รักษาอาการเลือดออกตามไรฟัน เนื่องจากมีวิตามินซีสูง จึงช่วยป้องกันโรคเลือกออกตามไรฟัน และลดอาการเหงือกอักเสบได้อีกด้วย
6. ช่วยเพิ่มภูมิต้านทานให้แข็งแรง วิตามินซีช่วยเสริมให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดความเสี่ยงการเกิดไข้หวัด
7. ช่วยบำรุงรักษาดวงตา การรับประทานส้มโอบ่อยๆ ช่วยบำรุงดวงตา เพราะวิตามินเอที่มีมากในผลไม้ชนิดนี้ทำให้ดวงตาทำงานดียิ่งขึ้น เป็นประกายแจ่มใส
8. ระบบขับถ่ายดีขึ้น ใยอาหารสูงช่วยให้ระบบขับถ่ายทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ หมดปัญหาเรื่องท้องผูก
9. บำรุงเส้นผมให้แข็งแรงเงางาม น้ำมันสกัดจากส้มโอใช้เป็นส่วนผสมของแชมพูสมุนไพร มีงานวิจัยระบุไว้ว่า ช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดบนหนังศีรษะ ผมจึงมีความแข็งแรง เงางาม ไม่ขาดหลุดร่วงง่าย
10. ย่อยอาหาร เส้นใยจำนวนมากทำหน้าที่เป็นพรีไบโอติก (Prebiotic) และโปรไบโอติก (Probiotic) ช่วยให้การเคลื่อนไหวของลำไส้ดีขึ้น ป้องกันปัญหาที่จะเกิดกับลำไส้ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาท้องเสียหรือท้องผูก