
มะเฟือง
มะเฟือง ชื่อสามัญ Star fruit
มะเฟือง ชื่อวิทยาศาสตร์ Averrhoa carambola L. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Averrhoa acutangula Stokes, Sarcotheca philippica (Villar) Hallier f.) จัดอยู่ในวงศ์กระทืบยอด (OXALIDACEAE)
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ไม้ยืนต้นขนาดกลางสูง 8-12 เมตร แตกกิ่งก้านสาขามาก ลำต้นสั้น เรือนยอดแน่นทึบ ลำต้นสีน้ำตาลอมแดง ผิวขรุขระ ใบประกอบแบบขนนก ออกเรียงสลับ แต่ละใบมีใบย่อย 3-11 ใบ ใบย่อยออกตรงข้ามกัน หรือเรียงสลับกัน ใบย่อยรูปขอบขนาน แถบใบหอก กว้าง 2-3.5 เซนติเมตร ยาว 3-9 เซนติเมตร ปลายใบแหลม โคนใบมน ขอบใบเรียบ ผิวใบมัน ใบอ่อนสีเขียวอมแดง ใบย่อยตรงปลายใบมีขนาดใหญ่ ดอกช่อขนาดเล็ก โคนเชื่อมติดกัน ปลายแยก 5 กลีบ กลีบดอกสีชมพู ถึงม่วงแดง แต่ตอนโคนกลีบสีซีดจางเกือบขาว ปลายกลีบโค้งงอน ออกตามซอกใบที่มีใบติดอยู่ หรือใบร่วงหลุดไปแล้ว หรืออาจจะออกตามลำต้น กลีบเลี้ยงสีม่วงมี 5 กลีบ ปลายแหลม ก้านชูช่อดอกมีสีม่วง ผลสด รูปกลมรี อวบน้ำ มีสันเด่นชัด ลักษณะเป็นกลีบขึ้นเป็นเฟือง 5 เฟือง มองเห็นเป็นสันโดยรอบผล 5 สัน เมื่อผ่าตามขวางจะเป็นรูปดาว 5 แฉก ยาว 7-14 เซนติเมตร ผลดิบสีเขียว ผลสุกสีเหลืองอ่อนอมส้ม เป็นมันลื่น เนื้อผลลักษณะชุ่มน้ำ รสหวานอมเปรี้ยวรับประทานได้ เมล็ดแบนสีดำ ยาวเรียวขนาด 0.5 เซนติเมตร มีหลายเมล็ด ผลและยอดอ่อนใช้รับประทานได้ ให้ผลตลอดปี บางชนิดรสหวาน บางชนิดรสเปรี้ยว ผลกินได้ทั้งขณะผลอ่อน และผลสุกแล้ว พบปลูกตามบ้านเรือน เรือกสวนทั่วไปเพื่อรับประทานผล
ใบเป็นใบประกอบ รูปใบมนรี ปลายใบแหลม ขอบใบเรียบ ก้านใบสั้น ใบด้านบนเรียบด้านล่างมีขนบาง ใบย่อยที่ปลายก้านมักใหญ่ ใบเรียงตัวแบบเกลียว
ดอกมะเฟืองออกตามซอกใบเป็นช่อสั้นๆ มีสีชมพูอ่อนไปจนถึงเกือบแดงตรงกลางหลอดดอกมีสีเหลือง มีกลีบดอก 5 กลีบ ปลายกลีบโค้งงอ โคนกลีบดอกจะมีสีเข้มกว่าปลายกลีบ ดอกมีกลิ่นหอมผลอวบน้ำมีรูปร่างแปลก ยาวได้ถึง 5 นิ้ว ผลหยักเว้าเป็นร่องลึก 5 ร่อง ผลอ่อนสีเขียว สุกแล้วมีสีเหลืองใส เปลือกผลบางเรียบมันรับประทานได้ เวลาหั่นขวางจะเป็นรูปดาวสวยงาม มีเมล็ดรีสีน้ำตาล สามารถกินได้ทั้งผลสุกและผลอ่อน
เชื่อว่ามะเฟืองมีถิ่นกำเนิดแถบศรีลังกาและมะละกา เป็นไม้พื้นเมืองแถบอินโดนีเซีย อินเดีย และศรีลังกา นิยมปลูกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และบางส่วนของเอเชียตะวันออก
นอกจากนี้ ยังพบมะเฟืองปลูกที่สาธารณรัฐโดมินิกัน บราซิล เปรู กานา กายานา ซามัว ตองกา ไต้หวัน French Polynesia คอสตาริกา และ ออสเตรเลีย ที่ฟลอริดาตอนใต้และฮาวาย สหรัฐอเมริกา มีแหล่งเพาะปลูกมะเฟืองเชิงพาณิชย์ พบว่าประเทศมาเลเซียเป็นผู้ส่งออกมะเฟืองรายใหญ่ที่สุดของโลก
สายพันธุ์มะเฟือง
ต้นมะเฟืองมีรูปทรงสวยงาม ปลูกเป็นไม้ประดับก็ได้ หรือปลูกเป็นไม้เก็บผลก็ดี
ประเทศไทยปลูกมะเฟืองกันหลายสายพันธุ์ ได้แก่
* มะเฟืองเปรี้ยว เป็นพันธุ์ดั้งเดิมของประเทศไทย มีทั้งชนิดผลใหญ่และเล็ก
* มะเฟืองพันธุ์ไต้หวัน ขนาดผลใหญ่พอประมาณ กลีบผลบาง ขอบบิด มีรสหวาน
* มะเฟืองพันธุ์กวางตุ้ง มีสีขาวนวล ขอบกลีบผลสีเขียว มีรสหวาน
* มะเฟืองพันธุ์มาเลเซีย ผลมีขนาดใหญ่ เนื้อฉ่ำน้ำ น้ำหนักมาก มีรสหวานอมเปรี้ยว
มะเฟืองสามารถกินเป็นผลไม้ก็ได้ ปรุงเป็นกับข้าวก็ดี
การกินมะเฟืองของคนไทยมีหลายรูปแบบ เช่น กินผลมะเฟืองสด ใช้เป็นเครื่องเคียงอาหาร (เครื่องเคียงแหนมเนือง) หรือจะแปรรูปเป็นน้ำผลไม้
ใบอ่อนของมะเฟืองกินเป็นผักได้ที่ต่างประเทศนำมะเฟืองมาปรุงอาหารและเครื่องดื่มหลายชนิด พบทั้งเป็นส่วนประกอบในสลัดกุ้งก้ามกราม เป็นเครื่องเคียงอาหารเนื้อสัตว์ (ปลา หมู ไก่) ใช้แทนสับปะรดในอาหารจำพวกผัดผัก และเมนูอาหารอบ ปรุงผลิตภัณฑ์เบเกอรี่ เช่น ทำแยม ทาร์ตและเค้ก และพบในเครื่องดื่มต่าง ๆ
คุณค่าทางโภชนาการ ในผลมะเฟือง พบสาระสำคัญ คือ Quercetin, Epicatechin, Gallic acid, Oxalic acid เป็นต้น นอกจากนี้มะเฟืองยังมีคุณค่าทางโภชนาการดังนี้ พลังงาน 31 กิโลแคลอรี คาร์โบไฮเดรต 6.73 กรัม น้ำตาล 3.98 กรัม เส้นใย 2.8 กรัม ไขมัน 0.33 กรัม โปรตีน 1.04 กรัม วิตามินบี1 0.014 มิลลิกรัม วิตามินบี 2 0.016 มิลลิกรัม วิตามินบี 3 0.367 มิลลิกรัม วิตามินบี 5 0.391มิลลิกรัม วิตามินบี 6 0.017 มิลลิกรัม วิตามินบี 9 12 ไมโครกรัม วิตามินซี 34.4 มิลลิกรัม วิตามินอี 0.15 มิลลิกรัม ลูทีนและซีแซนทีน 66 ไมโครกรัม โคลีน 7.6 มิลลิกรัม ธาตุแคลเซียม 3 มิลลิกรัม ธาตุเหล็ก 0.08 มิลลิกรัม ธาตุแมกนีเซียม 10 มิลลิกรัม ธาตุแมงกานีส 0.037 มิลลิกรัม ธาตุฟอสฟอรัส 12 มิลลิกรัม ธาตุโพแทสเซียม 133 มิลลิกรัม ธาตุโซเดียม 2 มิลลิกรัม ธาตุสังกะสี 0.12 มิลลิกรัม |
เมนูตัวอย่างจากมะเฟือง 1. ตำหัวปลีใส่มะเฟืองเปรี้ยว ส่วนผสมวัตถุดิบ 1. หัวปลี 1 หัว 2. พริกแห้ง 10 เม็ด 3. กระเทียมไทย 5 กลีบ 4. น้ำปลาร้า 3 ช้อน 5. มะเฟืองเปรี้ยวสุก 3 ลูก 6. น้ำตาล 1 ช้อนโต๊ะ 7. ผงชูรส 2 ช้อนชา |
ขั้นตอนวิธีการทำ 1. เลือกมะเฟืองเปรี้ยวสุกหั่นเป็นเเว่น ๆ 3 ลูก 2. ตำพริก กระเทียมที่เตรียมไว้เข้าด้วยกัน สับหัวปลีเเกะเหลือแต่ที่อ่อน ๆ เอาส่วนผสมใส่ลงไปทั้งหมดแล้วตำให้เข้ากัน 3. ชิมรสชาติเปรี้ยว หวาน เค็ม ตามใจชอบ |
2. มะเฟืองแช่อิ่ม ส่วนผสมวัตถุดิบ 1. มะเฟืองสุก 1 ก.ก. 2. น้ำตาลทรายขาว 500 กรัม 3. น้ำเกลือสำหรับแช่ 4. เกลือป่น 1/2 ช้อนชา 5. น้ำเปล่า 1 ลิตร ขั้นตอนวิธีการทำ 1. ล้างมะเฟืองให้สะอาด 2. ใช้มีดปอกเส้นแข็งตรงแฉกออกให้หมด ตัดหัวและท้าย ถ้ามีแมลงเจาะก็ตัดทิ้ง 3. หั่นมะเฟืองเป็นชิ้น ไม่บางหรือหนาเกินไป แช่ในน้ำเกลือสักครู่ พักให้สะเด็ดน้ำ 4. ในระหว่างที่รอสะเด็ดน้ำ ต้มน้ำเชื่อมสำหรับแช่อิ่ม และพักน้ำเชื่อมให้เย็น 5. เมื่อน้ำเชื่อมเย็นแล้ว เทใส่ในภาชนะที่มีฝาปิดนำมะเฟืองใส่ลงไป ปิดฝา แช่ทิ้งไว้ในตู้เย็น 1 คืน 6. นำน้ำแข็งใส่ภาชนะ และตักมะเฟืองแช่อิ่มราดลงด้านบน รสชาติหวานอมเปรี้ยว |
ประโยชน์ต่อสุขภาพ มะเฟืองมีคุณสมบัติในการต้านออกซิเดชันสูง มีสารกลุ่มโพลีฟีนอลซึ่งมีฤทธิ์ต้านออกซิเดชันมาก สารสำคัญในกลุ่มนี้ที่พบในมะเฟือง ได้แก่ กรดแอสคอบิก อีพิคาทีชิน และกรดแกลลิกในรูปของแกลโลแทนนิน 1. สารสำคัญที่แสดงฤทธิ์ต้านออกซิเดชันจากมะเฟือง คือ โพรแอนโทไซยาไนดินในรูปของโมเลกุลคู่ โมเลกุล 3 4 5 (dimers, trimers, tetramers and pentamers) ของคาทีชินหรืออีพิคาทีชิน 2.นอกจากนี้ มะเฟืองมีวิตามินซีมาก บรรเทาโรคเลือดออกตามไรฟัน มะเฟืองมีปริมาณพลังงาน น้ำตาลและเกลือโซเดียมต่ำ เหมาะกับการกินเพื่อควบคุมน้ำหนัก คุมน้ำตาลในเลือด หรือลดความอ้วน มีกรดผลไม้มาก ใช้เป็นส่วนผสมของเครื่องสำอางชำระล้างผิวกายและป้องกันการเกิดสิว 3.ฤทธิ์ลดน้ำตาลและสร้างไกลโคเจน งานวิจัยจากประเทศบราซิลในปีนี้พบว่าอนุพันธ์กลูโคไพแรนโนไซด์ของเอพิจีนิน (apigenin-6-C-beta-l-fucopyranoside) ที่ได้จากผลมะเฟืองมีผลทันทีในการลดน้ำตาลในเลือดของหนูที่เป็นเบาหวาน ไกลโคไซด์ดังกล่าวกระตุ้นการหลั่งอินซูลินชนิดที่ถูกกระตุ้นโดยกลูโคส และมีผลในการสังเคราะห์ไกลโคเจนในกล้ามเนื้อ soleus 4.ผลในการสังเคราะห์ไกลโคเจนในกล้ามเนื้อถูกยับยั้ง เมื่อมีการใช้สารยับยั้งการส่งผ่านสัญญาณสู่อินซูลิน (insulin signal transduction inhibitor) ฟลาโวนอยด์จากมะเฟืองจึงมีฤทธิ์เป็นทั้ง antihyperglycemic (insulin secretion) และ insulinomimetic (glycogen synthesis) |
ข้อควรระวัง |
มะเฟืองมีกรดออกซาลิกสูง ผู้ป่วยโรคไตและผู้ป่วยที่ต้องฟอกไตไม่ควรกินมะเฟืองเพราะจะเกิดอาการข้างเคียงและเจ็บป่วยมากได้ นอกจากนี้แล้วมะเฟืองมีฤทธิ์ต้านการทำงานของเอนไซม์ไซโทโครม พี 450 ซึ่งมีหน้าที่ในการกำจัดยาหลายชนิด เชื่อว่าโพรไซยาไนดินบี 1 และบี 2 และ/หรือโมเลกุล 3 ซึ่งประกอบด้วยคาทีชินและ/หรืออีพิคาทีชินเป็นสารที่ออกฤทธิ์ดังกล่าว ผู้ป่วยที่กินยาลดไขมันและยาคลายเครียดตามคำแนะนำแพทย์จึงไม่ควรบริโภคมะเฟือง