
มะพร้าว
- ชื่อวิทยาศาสตร์ : Cocos nucifera L. var. nucifera
ชื่อสามัญ : Coconut
วงศ์ : Palmae
ชื่ออื่น : ดุง (จันทบุรี) เฮ็ดดุง (เพชรบูรณ์) โพล (กาญจนบุรี) คอส่า (แม่ฮ่องสอน) พร้าว (นครศรีธรรมราช) หมากอุ๋น
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ไม้ต้น สูง 20-30 เมตร ลำต้นกลม ตั้งตรง ไม่แตกกิ่งก้าน เปลือกต้นแข็ง สีเทา ขรุขระ มีรอยแผลใบ ใบ เป็นใบประกอบแบบขนนก ออกเรียงเวียน รูปพัดจีบ กว้าง 3.5- ซม. ยาว 80-120 ซม. โคนใบและปลายใบแหลม ขอบใบเรียบ แผ่นใบเรียบสีเขียวแก่เป็นมัน โคนก้านใบใหญ่แผ่เป็นกาบหุ้มลำต้น ดอก ออกเป็นช่อแขนงตามซอกใบ ดอกเล็ก กลีบดอกที่ลดรูปมี 4-6 อัน ในช่อหนึ่งมีทั้งดอกเพศผู้และเพศเมีย ดอกเพศผู้อยู่ปลายช่อ ดอกเพศเมียอยู่บริเวณโคนช่อดอก ไม่มีก้านดอก ผล รูปทรงกลมหรือรี ผิวเรียบ ผลอ่อนสีเขียวพอแก่เป็นสีน้ำตาล เปลือกชั้นกลางเป็นเส้นใยนุ่ม ชั้นในแข็งเป็นกะลา ชั้นต่อไปเป็นเนื้อผลสีขาวนุ่ม ข้างในมีน้ำใส
ส่วนที่ใช้ :
เปลือกผล – ผลแก่ปอกเปลือกตากแห้งเก็บไว้ใช้
กะลา – ตากแห้ง หรือเผาเป็นถ่าน บดเป็นผงเก็บไว้ใช้ โดยเผากะลาให้ลุกโชน เอากะลามัง หรือกระทะเหล็กครอบไม่ให้อากาศเข้าได้ จนไฟดับหมดแล้วปล่อยไว้ให้เย็น เปิดภาชนะเหล็กที่ครอบไว้ออก จะได้ถ่านจากกะลามะพร้าว นำไปบดเป็นผง เก็บไว้ในขวดปิดสนิท เก็บไว้ใช้ และที่ก้นภาชนะเหล็กมีน้ำมันเหนียวสีน้ำตาล ขูดเก็บไว้ใช้ เป็นยาทาแก้กลากเกลื้อนได้ดี
เนื้อมะพร้าว – เนื้อมะพร้าว (ติดกับกะลา) มีสีขาว ใช้สด หรือหั่นฝอย ใส่น้ำเคี่ยว เอาน้ำมันมะพร้าวเก็บไว้ใช้ หรือตากแห้ง บีบและเคี่ยวเอาน้ำมันเก็บไว้ใช้ น้ำมันใหม่ๆ จะมีกลิ่นหอม น้ำมันมะพร้าวในที่อุ่นจะเหลวใส ในที่เย็นจะข้นขาวคล้ายเนยแข็ง มีกลิ่นเฉพาะตัว
น้ำ – น้ำมะพร้าว อ่อน และน้ำมะพร้าวแก่ใช้สด
ราก – ใช้สด เก็บได้ตลอดปี
ดอก – ใช้สด
เปลือกต้น – ใช้สด เก็บได้ตลอดปี
สารสีน้ำตาล – ที่ออกมาย้อยแข็งอยู่ใต้ใบ เก็บไว้ใช้
มะพร้าวกับความเชื่อ มีความเชื่อว่าการปลูกต้นมะพร้าวทางทิศตะวันออกของบ้านจะอยู่เย็นเป็นสุข ไม่มีการเจ็บไข้ได้ป่วย และยังเป็นมิ่งขวัญสำหรับคนเกิดปีชวดและปีเถาะอีกด้วย ส่วนในพิธีกรรมทางศาสนาจะจัดให้มีเครื่องสังเวยเป็นมะพร้าวอ่อน เพราะเชื่อว่าเป็นตัวแทนแห่งความอุดมสมบูรณ์ การดื่มน้ำมะพร้าวก็เพื่อความเป็นสิริมงคล นอกจากนี้ยังใช้น้ำมะพร้าวล้างหน้าศพอีกด้วย เพราะมีความเชื่อว่าน้ำมะพร้าวเป็นน้ำที่บริสุทธิ์ ทำให้ผู้ตายเกิดความผ่องใส สงบจิตใจลงได้ และเดินทางไปยังภพภูมิหน้าได้อย่างเป็นสุข (อ้อ มะพร้าวยิ่งต้นสูงเท่าไหร่ น้ำก็ยิ่งสะอาดมากขึ้นเท่านั้น) (ที่มา : ตำราพรหมชาติฉบับหลวง)
น้ำมันพร้าวกับประจำเดือน ด้วยความเชื่อที่ว่า “ในขณะที่มีประจำเดือนไม่ควรดื่มน้ำมะพร้าวเป็นอันขาด” แต่ความจริงก็คือน้ำมะพร้าวก็เหมือนน้ำหวานทั่ว ๆ ไป จึงไม่มีผลกระทบต่อการมีประจำเดือนแต่อย่างใด แต่ก็มีข้อยกเว้นสำหรับบางรายที่อาจมีอาการแพ้น้ำมะพร้าวได้ ดังนั้นคุณสามารถดื่มน้ำมะพร้าวแสนโปรดของคุณได้ตามปกติแม้จะมีประจำเดือนก็ตาม แต่อย่างไรก็ตาม เพื่อป้องกันความเสี่ยง ผู้เชี่ยวชาญไม่แนะนำให้เสี่ยงทดลอง เพราะประจำเดือนอาจจะเปลี่ยนสีและหดหายไปได้ ซึ่งมีส่วนทำให้เกิดมะเร็งมดลูกได้ในระยะยาว (แหล่งอ้างอิง : ดาราเดลี่) ประกอบกับตำรายาไทยโบราณบอกว่า “น้ำมะพร้าวแสลงกับหญิงที่กำลังมีประจำเดือน” (ที่มา : “สารานุกรมสมุนไพร” (วุฒิ วุฒิธรรมเวช), “สมุนไพรร้านเจ้ากรมเป๋อ” (อุทัย สินธุสาร))
น้ำมะพร้าวกับคนท้อง ด้วยความเชื่อที่ว่า “ดื่มน้ำมะพร้าวมาก ๆ จะทำให้ลูกที่คลอดออกมามีผิวขาว ผิวเกลี้ยง และช่วยล้างไขตามตัว” ความจริงก็คือในน้ำมะพร้าวมีสารอาหารหลากหลายอย่างและกรดไขมันที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย เมื่อดื่มน้ำมะพร้าวจะทำให้สร้างไขที่ตัวเด็กให้มีสีค่อนข้างขาว เลยดูว่าเด็กตัวสะอาด เพราะตามธรรมชาติเด็กทุกคนต้องมีไขมันห่อหุ้มตัวอยู่แล้วแเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงจากอุณหภูมิภายนอกและยังช่วยให้เด็กคลอดง่ายขึ้นด้วย (ที่มา : หนังสือพิมพ์บ้านเมือง)
โดยน้ำและเนื้อมะพร้าวมีสารอาหารและคุณค่าทางโภชนาการที่แตกต่างกัน ดังนี้ 1. น้ำมะพร้าว 100 กรัม ให้พลังงาน 16 กิโลแคลอรี่ ประกอบด้วยน้ำเป็นหลัก และมีสารอาหารชนิดอื่น ได้แก่ คาร์โบไฮเดรต โปรตีน วิตามิน และแร่ธาตุต่าง ๆ เช่น โพแทสเซียม โซเดียม แมกนีเซียม แมงกานีส เป็นต้น 2. เนื้อมะพร้าว 100 กรัม ให้พลังงาน 81 กิโลแคลอรี่ มีสารอาหารต่าง ๆ คล้ายกับที่พบในน้ำมะพร้าว แต่มีส่วนประกอบหลักเป็นไขมันอิ่มตัวและคาร์โบไฮเดรต ฉะนั้น การบริโภคเนื้อมะพร้าวในปริมาณมากอาจส่งผลต่อระดับไขมันในเลือด เนื่องจากร่างกายคนเราควรได้รับไขมันอิ่มตัวไม่เกิน 7 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณพลังงานที่ต้องการ/วัน หรือประมาณ 16 กรัม เนื้อมะพร้าวสด 100 กรัม ให้พลังงาน 354 กิโลแคลอรี่ และมีสารอาหาร ดังต่อไปนี้ ไขมัน 33 กรัม คาร์โบไฮเดรต 15 กรัมm ไฟเบอร์ 9 กรัม โปรตีน 3 กรัม แมงกานีส 75% ของปริมาณที่แนะนำต่อวัน ทองแดง 22% ของปริมาณที่แนะนำต่อวัน ซีลีเนียม 14% ของปริมาณที่แนะนำต่อวัน เหล็ก 13% ของปริมาณที่แนะนำต่อวัน ฟอสฟอรัส 11% ของปริมาณที่แนะนำต่อวัน โพแทสเซียม 10% ของปริมาณที่แนะนำต่อวัน แมกนีเซียม 8% ของปริมาณที่แนะนำต่อวัน |
ตัวอย่างเมนูจากน้ำมะพร้าวและเนื้อมะพร้าว 1. วุ้นกะทิมะพร้าวอ่อน ส่วนผสมวัตถุดิบ 1. น้ำมะพร้าวอ่อน 1000 กรัม 2. ผงวุ้น 3 ช้อนตวง 3. น้ำเปล่า 300 กรัม 4. หัวกะทิ 1000 กรัม 5. น้ำตาลทรายขาว 280 กรัม 6. เกลือป่น 1 ช้อนชา 7. เนื้อมะพร้าวอ่อน 300 กรัม ขั้นตอนวิธีการทำ 1. นำผงวุ้นเทลงในน้ำเปล่าคนให้เข้ากัน ทิ้งไว้ 10-15 นาที จากนั้นเทหม้อ ตามด้วยน้ำมะพร้าวอ่อน เปิดแก๊สใช้ไฟกลาง 2. คนตลอดเวลาจนกระทั่งผงวุ้นละลายดี สังเกตไม่มีผงวุ้นติดเป็นจุด ๆ ที่ช้อน 3. เติมน้ำตาลทราย เกลือป่น ลงไป คนให้ทุกอย่างละลายเข้ากันดี 4. ใส่เนื้อมะพร้าวลงไป รอจนน้ำเดือดอีกรอบ ลดไฟลงเหลือไฟอ่อน 5. เติมหัวกะทิลงไป อย่าเคี่ยวนาน คนเรื่อย ๆ รอให้เดือดช่วงขอบหม้อเท่านั้น ประมาณ 1-2 นาที ปิดไฟ 6. ยกลงไปเทใส่ถาด ตัดฟองอากาศด้านออกให้หมด ทิ้งไว้ให้วุ้นเซตตัว 1-2 ชั่วโมง ตัดเป็นชิ้น ๆ พร้อมเสิร์ฟ 2. สายบัวต้มกะทิใส่มะพร้าวอ่อน ส่วนผสมวัตถุดิบ 1. สายบัว 500 กรัม 2. ปลาสลิด 2 ตัว 3. ปลาทูนึ่ง 2 ตัว 4. น้ำซุปกระดูกหมู 4 ถ้วย 5. มะพร้าวอ่อน 1-2 ผล 6. มะพร้าวทึนทึก (แก่) 1 ผล (ใช้กะทิธรรมดาก็ได้) 7. น้ำตาลปี๊บ 65 กรัม 8. ตะลิงปลิง (ไม่ใส่ก็ได้) 9. ดอกเกลือ น้ำมะขามเปียก และน้ำปลาสำหรับปรุงรส ส่วนผสมเครื่องแกง 1. หอมแดงขนาดกลาง 5 หัว 2. กะปิดี 2 ช้อนชา 3. เมล็ดพริกไทย 1 ช้อนชา 4. รากผักชี (อวบ) 1 ราก ขั้นตอนวิธีการทำ 1. แช่ปลาสลิดในน้ำส้มสายชู 30 นาทีเพื่อฆ่าสารแปลกปลอม เสร็จแล้วล้างน้ำ ซับให้แห้ง นำไปอบหรือย่างพอให้สุกมีกลิ่นหอม 2. โขลกเครื่องแกงเตรียมไว้ 3. ต่อยมะพร้าวทึนทึก ถ้าไม่มีที่ขูดมะพร้าวให้ใช้ตีนแมวขูดออกมา หรือต่อยเอาเปลือกออกแล้วใช้มีดปาดส่วนที่เป็นสีน้ำตาลออกให้หมด ใส่เนื้อมะพร้าวขาวลงในเครื่องปั่น ใส่น้ำมะพร้าวลงไปทั้งลูก ปั่นจนละเอียด เทใส่ผ้าขาวบาง คั้นน้ำกะทิออกมาให้หมด ตั้งทิ้งไว้ พอมันลอยหน้าก็ช้อนแยกหัวและหางกะทิ (ถ้าใช้มะพร้าวแก่ก็ซื้อจากตลาดได้เลย หรือใช้กะทิกล่องก็ได้) 4. เฉาะมะพร้าวอ่อน ตักเนื้อมะพร้าวไว้แกง ถ้ามะพร้าวแก่ตักไม่ไหวใช้มีดหั่นเป็นเส้น ผสมน้ำซุปกระดูกหมูกับหางกะทิ ตั้งไฟ ใส่เครื่องแกงลงไปต้มให้เดือด 5. ใส่ปลาสลิด ปลาทูนึ่ง และตะลิงปลิง ต้มให้เดือด ลดไฟอ่อน ต้มต่อให้น้ำแกงเข้าเนื้อปลา ปรุงรสด้วยน้ำตาลปี๊บก่อน รอจนน้ำตาลละลายแล้วจึงใส่เกลือ น้ำมะขามเปียก และน้ำปลา ใส่สายบัวและเนื้อมะพร้าวอ่อน ต้มจนสุกก็เป็นอันกินได้ |
ประโยชน์ของมะพร้าว มะพร้าว ประกอบด้วยสารประกอบวิตามิน และแร่ธาตุต่าง ๆ มากมายที่มีงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์สนับสนุนว่าอาจมีประโยชน์ต่อสุขภาพ ดังนี้ 1. ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ไฟเบอร์ หรือใยอาหารในมะพร้าวมีส่วนช่วยในการควบคุมน้ำหนัก ทั้งยังอาจช่วยลดระดับน้ำตาลและไขมันในเลือดได้ จึงอาจส่งผลให้ความเสี่ยงการเกิดโรคเบาหวาน โรคหัวใจ และมะเร็งบางชนิดลดลงด้วย 2. ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจ มะพร้าวมีโพแทสเซียมซึ่งเป็นแร่ธาตุที่มีบทบาทสำคัญในการควบคุมการทำงานของหัวใจ ระดับความดันโลหิต ระบบประสาทและระบบกล้ามเนื้อ 3. อาจส่งผลดีต่อการลดน้ำหนัก มะพร้าวอุดมด้วยไฟเบอร์หรือใยอาหารที่กรดในกระเพาะอาหารและเอนไซม์ในลำไส้เล็กไม่สามารถย่อยสลายได้ ไฟเบอร์จึงอยู่ในทางเดินอาหารได้นาน ทำให้รู้สึกอิ่มนานขึ้นและอาจช่วยลดความอยากอาหารได้ ซึ่งประโยชน์สุขภาพดังกล่าวอาจดีต่อการลดน้ำหนักหรือควบคุมน้ำหนัก 4. อาจช่วยลดแบคทีเรียในช่องปาก เนื้อมะพร้าวมีกรดไขมันอิ่มตัวสายยาวปานกลาง (Medium Chain Fatty Acids) ที่อาจช่วยลดแบคทีเรียในช่องปาก ป้องกันการติดเชื้อที่ทำให้ฟันผุหรือรากฟันมีปัญหา |
ข้อควรระวังการรับประทานมะพร้าว |
- มะพร้าวมีไขมันอิ่มตัวและแคลอรี่สูง หากรับประทานมากเกินไปอาจส่งผลให้ น้ำหนักเพิ่มขึ้นจนเสี่ยงเกิดภาวะน้ำหนักเกินหรือโรคอ้วนได้ นอกจากนี้ บางคนอาจมีอาการแพ้สารบางอย่างในมะพร้าว ทำให้มีผื่นขึ้น หายใจลำบาก หากพบว่าบริโภคมะพร้าวแล้วเกิดอาการแพ้ดังกล่าวควรเข้ารับการรักษาในทันที เพื่อป้องกันการเกิดปฏิกิริยาแพ้รุนแรงที่อาจทำให้เสียชีวิตได้ และควรหลีกเลี่ยงการบริโภคผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่มีมะพร้าวเป็นส่วนประกอบทั้งหมด
- สตรีตั้งครรภ์และอยู่ในช่วงให้นมบุตรอาจบริโภคมะพร้าวได้อย่างปลอดภัย แต่อาจต้องหลีกเลี่ยงการรับประทานมะพร้าวในรูปแบบอาหารเสริม เนื่องจากยังมีหลักฐานยืนยันไม่เพียงพอว่าสามารถบริโภคได้อย่างปลอดภัย