
มะต้อง (กระท้อน)
กระท้อน (Santol, Sentul, Red sentol, Yellow santol) หรือบางพื้นที่เรียกว่า สะตู สตียา สะโต เตียน ล่อน สะท้อน มะติ๋น มะต้อง หมากต้อง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Sandoricum koetjape (Burm. f.) Merr. ชื่อพ้องคือ Melja koetjape Burm. f., S. indicum Cav., S. ternatum Blanco. เป็นพืชในวงศ์ MELIACEAE มีลักษณะเป็นไม้ยืนต้น ดอกช่อมีขนตามก้านดอก และกลีบเลี้ยง ใบเรียงตัวเป็นเกลียว ใบย่อยแยกเป็น 3 ใบ ขอบใบเรียบ ใบแก่มีสีแดง ผลสีเหลืองเปลือกด้านในสีเนื้อ เนื้อในมีสีขาวหุ้มเมล็ด ผลรับประทานได้ สรรพคุณพื้นบ้านระบุว่า เปลือกต้น รักษากลากเกลื้อน ใบ แก้ไข้ เปลือกต้น ดอก และผล แก้ลงท้อง แก้ฝีเปื่อย แก้บวม ราก แก้ท้องเสีย สารสำคัญที่พบคือ koetjapic acid, katonic acid, bryonolic acid, sanjecumins A และ B, sandoripins A และ B, sentulic acid
- ลักษณะทั่วไปของกระท้อน
กระท้อน จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ สูง 15-30 ซม. เรือนยอดเป็นพุ่มกลมแน่นทึบ แตกกิ่งต่ำ ปลายกิ่งลู่ลง ลำต้นเปลาตรง โคนมักเป็นพอน และแตกล่อนเป็นสะเก็ดใหญ่ๆ เป็นปุ่มปม เปลือกสีน้ำตาลอ่อน ด้านในมีสีอมชมพู ค่อนข้างเรียบยางมีสีขาว ใบ เป็นใบประกอบเรียงสลับ ดอกเรียงตัวเป็นเกลียว ใบย่อยแยกเป็น 3 ใบ รูปไข่แกมรูปขอบขนานแกมรี ขอบใบเรียบ กว้าง 6-15 เซนติเมตร ยาว 8-20 เซนติเมตร ปลายใบแหลมโค้งมน ใบอ่อนมีขนสีเหลืองอ่อนทั้ง 2 ด้าน ใบแก่สีเขียวเข้มแต่ใบแก่เมื่อแห้งมีสีส้มแดง ดอกออกเป็นช่อแบบช่อแยกแขนง ออกตามง่ามใบใกล้ปลายกิ่ง ยาว 4-16 ซม. มีขนสีเหลือง ดอกมีจำนวนมากขนาดเล็ก สีเขียวอมเหลือง กลิ่นหอมอ่อน กลีบเลี้ยง 5 กลีบ โคนติดกันคล้ายรูประฆัง ปลายแยกเป็น 5 แฉก กลีบ ดอก 5 กลีบ รูปขอบขนาน ยาว 4-5 มม. แยกกัน เกสรเพศผู้ยาวประมาณ 3 มม. มี 10 อัน ติดกันเป็นหลอด อับเรณูติดอยู่ภายในหลอด ผลใหญ่ กลมแป็น ฉ่ำน้ำ เส้นผ่านศูนย์กลาง 6-10 ซม. เปลือกมีขนนุ่ม เนื้อหนานุ่ม มียางสีขาว ผลเป็นแบบผลเนื้อลักษณะกลมแป้น ขนาด 5-8 ซม. หรือ มีขนาดใหญ่ได้ถึง 20 เซนติเมตร ผิวเป็นกำมะหยี่สีเหลืองอมส้ม ภายในแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ เนื้อแข็งด้านนอก และด้านในเนื้อนุ่มเป็นปุยสีขาวที่หุ้มเมล็ดไว้ เปลือกหนา มียางสีขาวเล็กน้อย ผลสุกสีเหลืองนวล หรือ สีแดงส้ม ผิวเริ่มย่น ด้านในผลมีเมล็ด 3-5 เมล็ด เนื้อหุ้มเมล็ดเป็นปุยสีขาวมีรสเปรี้ยวหรือหวานกระท้อนเป็นผลไม้ที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ในแถบอินโดจีน เติบโตได้ดีในพื้นที่เขตร้อน จึงเป็นที่นิยมปลูกในประเทศไทยด้วย ทั้งเพื่อการบริโภคและเพื่อการพานิชย์ โดยปลูกกันมากทั้งในภาคใต้ ภาคเหนือ และภาคอีสาน มีสายพันธุ์ที่พบได้บ่อยคือกระท้อนปุยฝ้าย กระท้อนทับทิม และกระท้อนอีล่า
กระท้อนปุยฝ้ายมีลักษณะเด่นคือมีเนื้อนุ่มฟู ปุยที่เม็ดหนามาก ผลกลมแป้นไม่มีจุก รสหวาน แตกต่างจากกระท้อนทับทิมที่มีรสชาติหวานชัดเจนกว่า เนื้อแน่น ไม่นุ่มฟูอย่างกระท้อนปุยฝ้าย ผลเล็กกว่า แต่เปลือกไม่ฝาดมากจึงเป็นขวัญใจของคนที่ชอบเคี้ยวเนื้อกระท้อนแน่น ๆ ส่วนกระท้อนอีล่าลูกใหญ่กว่าใครเพื่อน เนื้อนิ่มเป็นปุยแต่ติดรสออกเปรี้ยว ที่มาของชื่ออีล่านั้นเป็นเพราะจะสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ล่าช้าหลังจากสายพันธุ์อื่น คนไทยกินกระท้อนกันหลายรูปแบบ ทั้งกินสด ทำเป็นของว่างทานเล่นอย่างกระท้อนแช่อิ่ม กระท้อนลอยแก้ว และใช้ประกอบเป็นของคาวอย่างแกงฮังเล แกงคั่วกระท้อน ตำกระท้อน โดยมีเคล็ดลับในการลดความฝาดความขมคือต้องเฉือนเอาส่วนเปลือกออกให้หมด แล้วนำไปแช่น้ำเกลือก่อนนำมาใช้ก็จะช่วยลดฝาดได้ดี
เลือกกระท้อนแบบไหนดี
วิธีการเลือกกระท้อนอันดับหนึ่งคือต้องดูสีเปลือกให้ออกสีเหลืองทอง มีสีเขียวปนน้อยหรือไม่มีเลย ผิวเป็นกำมะหยี่เกลี้ยง ไม่มีรอยแผลจากหนอนและแมลง ผิวตึง จะได้กระท้อนสุกจัด เหมาะกับการกินสดหรือทำของหวานของว่าง แต่หากจะนำไปตำกระท้อนหรือใช้ในเมนูที่ต้องการรสเปรี้ยวมากขึ้นควรเลือกกระท้อนที่ติดเขียว ผิวหนา กึ่งสุกกึ่งดิบ
จุกหรือขั้วกระท้อนตรงกันทั้งบนล่าง ก้นกระท้อนเต็ม ไม่บุ๋ม ก็จะได้กระท้อนที่มีเม็ดสวย ชั้วแน่นติดกับผล ไม่ฝ่อแห้งหลุดออก ที่สำคัญคือกระท้อนเมื่อเก็บมาจากต้นแล้วควรทิ้งไว้ 2-3 วัน เพื่อให้กระท้อน ‘ลืมต้น’ คลายความเปรี้ยวก่อนก็จะอร่อยขึ้น
คุณค่าทางโภชนาการ คุณค่าทางโภชนาการของกระท้อนในส่วนของเนื้อที่กินได้ต่อน้ำหนัก 100 ก. (พันธุ์สีเหลือง) คือ โปรตีน 0.118 ก. ไขมัน 0.1 ก. ใยอาหาร 0.1 ก. แคลเซียม 4.3 มก. ฟอสฟอรัส 17.4 มก. ธาตุเหล็ก 0.42 มก. แคโรทีน 0.003 มก. วิตามินบี1 0.045 มก. วิตามินบี3 0.741 มก. และวิตามินซี 86.0 มก. |
ตัวอย่างเมนูจากกระท้อน 1. กระท้อนทรงเครื่อง ส่วนผสมวัตถุดิบ 1. น้ำเปล่า 1 ถ้วย 2. น้ำตาลปี๊บ 50 กรัม 3. กะปิ 1 ช้อนโต๊ะ 4. กุ้งแห้ง(ตำหยาบ) 1/4 ถ้วย มะนาว 1/2 ลูก 5. ถั่วลิสงคั่ว (ตำหยาบ) ตามชอบ 6. พริกแดงซอย ตามชอบ 7. พริกป่น ตามชอบ 8. น้ำปลา 1 ช้อนโต๊ะ ขั้นตอนวิธีการทำ 1. นำน้ำใส่หม้อ ตั้งไฟอ่อนให้น้ำพอร้อน เทน้ำตาลปี๊บและกะปิลงไปเคี่ยว 2. จากนั้นก็ใส่กุ้งแห้งตำหยาบลงไป เคี่ยวจนน้ำตาลเหนียวข้นจากนั้นให้ปิดไฟแล้วบีบมะนาวใส่ลงไป 3. ตามด้วยถั่วลิสง พริกแดงซอย พริกป่น และน้ำปลา แล้วคนให้เข้ากันเฉาะกระท้อนให้ทั่วทั้งลูก แล้วตักน้ำราดไปบนลูกกระท้อน แค่นี้ก็เป็นอันเสร็จ |
สรรพคุณของกระท้อน อร่อยและดีกับสุขภาพ |
1. สร้างเสริมระบบภูมิคุ้มกัน กระท้อนมีไฟเบอร์อยู่พอสมควร ซึ่งไฟเบอร์จะช่วยให้ร่างกายสามารถสร้างโปรไบโอติกส์ได้มากขึ้น และเจ้าแบคทีเรียชนิดนี้มีส่วนสำคัญในการสร้างเสริมระบบภูมิคุ้มกัน อีกทั้งสารต้านอนุมูลอิสระที่อยู่ในกระท้อนยังช่วยป้องกันและกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันให้ทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
2. ป้องกันฟันผุ สรรพคุณอีกอย่างหนึ่งที่เรียกได้ว่าน่าสนใจสุด ๆ ของกระท้อน นั่นก็คือกระท้อนช่วยป้องกันฟันผุได้ เพราะการรับประทานกระท้อนจะช่วยเพิ่มการหลั่งของน้ำลาย ซึ่งเจ้าน้ำลายนี่ล่ะค่ะมีฤทธิ์ในการยับยั้งเชื้อแบคทีเรียที่อยู่ในช่องปาก และขจัดเชื้อแบคทีเรียต่าง ๆ ที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดฟันผุได้เป็นอย่างดี
3. ลดระดับคอเลสเตอรอลกระท้อนเป็นแหล่งที่อุดมด้วยไฟเบอร์ชนิดละลายน้ำได้ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่มีระดับคอเลสเตอรอลสูง เนื่องจากไฟเบอร์ชนิดนี้จะเข้าไปลดระดับไขมันในเส้นเลือด อีกทั้งเพคตินที่อยู่ในกระท้อนก็ยังคอยช่วยดักจับคอเลสเตอรอล ทำให้ระดับคอเลสเตอรอลลดลง และสามารถป้องกันโรคเกี่ยวกับหลอดเลือดหัวใจได้อีกด้วย
4. แก้ท้องเสีย แม้ว่าการรับประทานไฟเบอร์มากไปจะกระตุ้นให้ระบบขับถ่ายทำงานหนักจนอาจกลายเป็นอาการท้องเสีย แต่สำหรับคนที่ท้องเสียแล้ว กระท้อนช่วยได้ค่ะ โดยเฉพาะรากของกระท้อน หากนำมาต้มน้ำดื่มจะช่วยแก้อาการท้องเสีย และบิด ไม่เพียงเท่านั้นเพราะไฟเบอร์ที่อยู่ในกระท้อน เมื่อรับประทานเข้าไปแล้วก็ยังสามารถช่วยปรับระบบการทำงานของลำไส้ให้กลับมาเป็นปกติได้อีกด้วย กระท้อน
5. อุดมด้วยวิตามิน กระท้อนเป็นผลไม้ที่อุดมไปด้วยวิตามินบีและซี ซึ่งจะช่วยรักษาป้องกันอาการเลือดออกตามไรฟันได้ รวมทั้งสารต้านอนุมูลอิสระที่อยู่ในกระท้อนยังช่วยป้องกันโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และโรคอัลไซเมอร์ นอกจากนี้วิตามินบีในกระท้อนก็ยังมีส่วนในการกระตุ้นการเผาผลาญของร่างกาย ช่วยทำให้อารมณ์ดีขึ้น และป้องกันความเสี่ยงโรคพิการแต่กำเนิดของทารกในครรภ์ได้
6. ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ไฟเบอร์ในกระท้อนจะข้าไปช่วยชะลอการทำงานของระบบย่อยอาหาร ทำให้น้ำตาลที่มาจากอาหารถูกย่อยเป็นกลูโคสช้าลง และยับยั้งไม่ให้น้ำตาลในเลือดสูงขึ้น
7. ป้องกันโรคมะเร็งลำไส้ด้วยปริมาณไฟเบอร์ที่สูงของกระท้อน จึงทำให้กระท้อนกลายเป็นอาหารอีกหนึ่งชนิดที่สามารถช่วยป้องกันการเกิดมะเร็งลำไส้ได้ เพราะไฟเบอร์ในกระท้อนนั้นจะเข้าไปกระตุ้นการทำงานของระบบขับถ่าย ทำให้ลำไส้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ต้องห่วงว่าจะท้องผูก หรือเกิดภาวะลำไส้แปรปรวนจนเสี่ยงต่อโรคมะเร็งลำไส้เลยล่ะ
8. ตัวช่วยลดน้ำหนัก
หวานน้อยและไฟเบอร์มาก เป็นคุณสมบัติที่ดีของอาหารที่ควรรับประทานในช่วงลดน้ำหนัก และกระท้อนก็คือหนึ่งในนั้นค่ะ การรับประทานกระท้อนจะช่วยให้ได้รับไฟเบอร์มากขึ้น ทำให้อิ่มนาน และไม่หิวบ่อย ส่วนน้ำตาลที่อยู่ในกระท้อนก็ยังเป็นน้ำตาลจากธรรมชาติที่ร่างกายนำไปใช้ได้ทันทีอีกด้วย
9. รักษาโรคผิวหนัง
นอกจากเป็นอาหารที่ถูกปากแล้ว กระท้อนก็ยังถือเป็นสมุนไพรอีกด้วย โดยใบของกระท้อนสามารถนำมาบดเพื่อรักษาโรคผิวหนังได้หลายชนิดไม่ว่าจะเป็นโรคสะเก็ดเงิน ผื่น กลาก และโรคผิวหนังอื่น ๆ ได้
ข้อควรระวังในการรับประทานกระท้อน |
แม้กระท้อนเป็นผลไม้ที่มีรสชาติดีและช่วยบำรุงสุขภาพ แต่ก็ควรจะรับประทานอย่างระมัดระวัง เนื่องจากเมล็ดของกระท้อนมีลักษณะค่อนข้างใหญ่และลื่น หากไม่ระวังอาจจะไหลติดคอจนทำให้หายใจไม่ออกได้ นอกจากนี้ เมล็ดกระท้อนเมื่อเข้าสู่กระบวนการย่อยอาหารแล้ว เนื้อที่หุ้มเมล็ดกระท้อนจะหายไป เหลือแต่เมล็ดกระท้อนที่มีปลายแหลม ซึ่งอาจเข้าไปขูดลำไส้จนเป็นแผลทะลุ และติดเชื้อทางกระแสโลหิต ทำให้เสียชีวิตได้ ดังนั้นจึงควรหลีกเลี่ยงการรับประทานเมล็ดกระท้อนจะดีที่สุด นอกจากนี้ควรรับประทานผลกระท้อนในปริมาณที่พอเหมาะ เพราะถ้าหากกินเยอะมากไป อาจจะทำให้เกิดท้องเสียได้