
มะขามเทศ
ชื่อสมุนไพร มะขามเทศ
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น มะขามข้อง (แพร่)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Pithecellobium dulce (Roxb.) Benth.
ชื่อสามัญ Manila Tamarind, Manila tamarind
วงศ์ FABACEAE
ถิ่นกำเนิดมะขามเทศ
มะขามเทศเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิด และจัดเป็นพืชพื้นเมืองของไทยชนิดหนึ่ง แต่ก็มีแหล่งข้อมูลบางที่ระบุว่าเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกากลาง สำหรับในประเทศไทยสามารถพบได้ทั่วไปตามแหล่งรถร้างทั่วไป หรือ ที่สาธารณะต่าง ๆ ทั่วประเทศ เพราะเป็นพืชที่มีความทนทานต่อสภาพแวดล้อม โรค และแมลงต่าง ๆ นอกจากนี้ปัจจุบันยังมีการปลูกมะขามเทศ พันธุ์ที่มีรสหวานเพื่อการค้าอีกด้วย โดยแหล่งปลูกที่สำคัญของประเทศไทย คือ อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี, จ.สมุทรสงคราม, จ.สมุทรสาคร, จ.สระบุรี เป็นต้น
มะขามเทศ (ชื่อวิทยาศาสตร์: Pithecellobium dulce) เป็นพืชท้องถิ่นของประเทศไทยหลักฐานบางแหล่งกล่าวว่าเป็นพืชพื้นเมืองของเม็กซิโก อเมริกากลาง และอเมริกาใต้ตอนบนจากนั้นจึงแพร่กระจายไปสู่อเมริกาเหนือ กวม ฟิลิปปินส์ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ ลำต้นมีหนาม ใบบางและเป็นใบประกอบแบบนิ้วมือ ดอกช่อ ขนาดเล็ก สีขาว เห็นเกสรตัวผู้เป็นพู่ชัดเจน ผลเป็นฝักโค้งเป็นปล้อง ๆ ฝักอ่อนสีเขียว เมื่อแก่เปลี่ยนเป็นสีชมพูหรือแดง เนื้อในเป็นสีชมพูหรือสีขาวรสหวานหรือหวานอมฝาด ถ้าทิ้งไว้นาน เนื้อจะนุ่ม รสหวานจัดขึ้น แต่ถ้านานเกินไปจะมีกลิ่นเหล้าออกมา เมล็ดสีดำ มีปล้องละ 1 เมล็ด
มะขามเทศในประเทศไทยแบ่งตามลักษณะฝักเป็นสามกลุ่มคือ
กลุ่มฝักใหญ่ ฝักโค้งเป็นวงกลมหรือเป็นเกลียว ฝักแก่สีเขียวอ่อน ขาวปนแดงหรือชมพู เนื้อสีขาวปนแดง หวานมัน เนื้อนุ่ม
กลุ่มฝักกลาง ฝักโค้งเป็นวงกลม ฝักแก่สีเขียวอ่อน ปนชมพูอมแดง รสหวานมัน
พันธุ์พื้นเมือง ฝักขนาดเล็กสุด โค้งเป็นวงกลม ฝักแก่สีเขียวอ่อนปนชมพู รสหวานอมฝาด
ลักษณะทั่วไปของมะขามเทศ
มะขามเทศจัดเป็นไม้ยืนต้นเนื้อแข็ง ไม้ผลัดใบ มีอายุนานหลายปี ลำต้นสูงได้ถึง 15 เมตร กิ่งมักจะแตกออกมากในระดับต่ำ ลำต้นค่อนข้างกลมเปลือกเรียบ เปลือกมีสีเทาแกมขาว หรือ เทาดำเป็นร่องเล็ก ตามลำต้น และกิ่งมีหนามแหลมคม ในตำแหน่งรอยก้านใบ ใบเป็นใบประกอบเรียงสลับ แบบขนนก 2 ชั้น ใบย่อยรูปไข่กลับ หรือ รูปรี กว้าง 0.5-2.5 ซม. ยาว 1.5-4.5 ซม. โคนใบเบี้ยว ปลายใบมนขอบใบเรียบ ขอบใบ 2 ข้างโค้งไม่เท่ากัน ผิวใบมีสีเขียวลักษณะเรียบถึงมีขนเล็กน้อย ก้านใบอ่อนมีขนปกคลุม โคนก้านใบมีหูใบคล้ายหนาม โดยจะแทงออกบริเวณหนามของกิ่ง ดอกออกเป็นช่อกระจุกแยกแขนง ที่บริเวณข้อติดกับก้านใบ และปลายกิ่ง โดยช่อดอกจะยาวได้ถึง 10 ซม. ส่วนก้านช่อดอกยาว 1-2 ซม. มีขนละเอียดปกคลุม ดอกย่อยสมบูรณ์เพศรวมเป็นกลุ่ม 15-20 ดอกในแต่ละช่อย่อย
ในแต่ละดอกย่อยจะมีกลีบเลี้ยง 5 กลีบ กลีบ ดอก 5 กลีบ สีเขียวแกมขาว ติดกันเป็นหลอด ปลายแยกเป็น 5 แฉก ปลายกลีบมน เกสรเพศผู้จำนวนมาก ก้านชูอับเรณูเชื่อม ติดกันเป็นหลอด เกสรเพศเมีย 1 อัน ผลมะขามเทศมีลักษณะเป็นฝักค่อนข้างแบนถึงทรงกระบอกมีรอยคอดตามแนวสัน และเปลือกนูนตามจำนวนเมล็ด ผลขดเป็นวง หรือ เป็นเกลียวกว้าง 1-2 ซม. ยาว 5-15 ซม. ฝักอ่อนมีสีเขียว และเมื่อแก่จัดจะมีสีชมพู หรือ สีแดง โดยในแต่ละฝักจะมีเมล็ดประมาณ 2-10 เมล็ด เมล็ดมะขามเทศมีลักษณะแบน และนูนตรงกลาง มีรูปทรงคล้ายหยดน้ำ ขนาดเมล็ดกว้างประมาณ 5 มิลลิเมตร ยาว 9 มิลลิเมตร หนาประมาณ 2-3 มิลลิเมตร เมล็ดอ่อนมีสีเขียว เมื่อฝักแก่ เมล็ดจะมีสีดำ
คุณค่าโภชนาการของมะขามเทศ มะขามเทศ 100 กรัม อุดมไปด้วยสารอาหาร วิตามิน และแร่ธาตุ ดังนี้ ให้พลังงาน ประมาณ 78 กิโลแคลอรี่, โพแทสเซียม 222 มิลลิกรัม, ฟอสฟอรัส 42 มิลลิกรัม, โซเดียม 19 มิลลิกรัม, แคลเซียม 13 มิลลิกรัม, เหล็ก 0.5 มิลลิกรัม, วิตามินซี, วิตามินบี 1, วิตามินบี 2, วิตามินบี 6, ไฟเบอร์, คาร์โบไฮเดรต เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ เช่น ซาโปนิน, แทนนิน, ฟลาโวนอยด์ และสารประกอบฟีนอล ที่ช่วยขับอนุมูลอิสระออกจากเซลล์ร่างกาย ทั้งยังช่วยป้องกันหรือลดความเสียหายที่เกิดจากปฏิกิริยาออกซิเดชัน |
ตัวอย่างเมนูจากมะขามเทศ 1. แกงมะขามเทศ ส่วนผสมวัตถุดิบ 1. มะขามเทศฝาด 2. กะทิ(แยกหัว+หาง) 3. ใบมะกรูด ส่วนผสมเครื่องแกง 1. ข่า ตะไคร้ 2. ผิวมะกรูด 3. กระชาย 4. หอมแดง กระเทียม 5. พริกแห้งเม็ดใหญ่ 6. ปลาย่าง 7. กะปิ 8. น้ำปลาร้า 9. เกลือเม็ด 10. น้ำตาลปี๊ป 11. น้ำปลา 12. น้ำมะขามเปียก ขั้นตอนวิธีการทำ 1. นำพริกแห้ง และปลาย่างไปแช่น้ำทิ้งไว้ อย่างน้อย 20 นาที 2. ปลาย่างที่แช่น้ำไว้จนนิ่ม แกะเอาแต่เนื้อ (จะใช้เป็นปลาช่อน ปลาทู หรือปลาชนิดใดก็ได้) 3. มะขามเทศฝาด แกะเอาเม็ดออก นำไปล้างให้สะอาด 4. โขลกเครื่องพริกแกง โดยใส่ข่า ตะไคร้ ผิวมะกรูด ลงไปก่อนเนื่องจากเป็นส่วนผสมที่มีความแข็งที่สุด เมื่อละเอียดดีแล้ว ใส่กระชาย หอมแดงและกระเทียม โขลกให้ละเอียดเข้ากัน ตามด้วยพริกแห้งเม็ดใหญ่ที่แช่น้ำไว้แล้ว โรยเกลือเม็ดลงไปด้วย เนื่องจากพริกแห้งมีความเหนียว โขลกให้ละเอียดยาก ใช้เกลือช่วยเพิ่มความกระด้าง พริกแห้งจะละเอียดง่ายขึ้น เมื่อทุกอย่างเข้ากันดี ใส่เนื้อปลาย่างที่แกะเอาไว้ลงไปครึ่งหนึ่ง จากนั้นเติมกะปิลงไปปลายช้อน โขลกให้เข้ากัน 5. ตั้งหางกะทิ พอเดือดใส่เครื่องแกงลงไป คนให้เข้ากัน พอเดือดอีกรอบเติมน้ำปลาร้าสองช้อนโต๊ะ 6. รอให้เครื่องแกงหอม ใส่มะขามเทศฝาดแกะเม็ดที่ล้างทำความสะอาดแล้วลงไป 7. เติมหัวกะทิ กะให้พอท่วมมะขามเทศ 8. รอจนมะขามเทศสุก ใส่เนื้อปลาย่างที่เหลือลงไป 9. ปรุงรสด้วย น้ำตาลปี๊ป น้ำปลา น้ำมะขามเปียก ตามชอบ 10. เมื่อทุกอย่างสุกหอม โรยใบมะกรูดฉีก ปิดไฟ พร้อมนำไปรับประทาน |
ประโยชน์ของมะขามเทศ จากงานศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ ที่สนับสนุนสรรพคุณของมะขามเทศในการส่งเสริมสุขภาพ กล่าวถึงประโยชน์ของมะขามเทศไว้ ดังนี้ |
- ป้องกันและรักษาโรคเบาหวาน เพราะมีสารซาโปนิน เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ทำหน้าที่ช่วยลดภาวะเครียดออกซิเดชัน ช่วยปรับปรุงการเผาผลาญไขมัน ควบคุมระดับน้ำตาล และไขมันในเลือดให้อยู่ในระดับปกติ
- ช่วยต้านมะเร็งได้ เพราะในมะขามเทศมีสารด้านอนุมูลอิสระหลายชิด โดยเฉพาะ สารฟลาโวนอยด์ สารออกฤทธิ์ทางชีวภาพ ช่วยต้านอนุมูลอิสระ ต้านเนื้องอก ต้านไวรัส ต้านการอักเสบ ป้องกันโรคหัวใจ และหลอดเลือด บรรเทาความเครียด และอาจช่วยป้องกันมะเร็งได้
มีฤทธิ์ต้านแบคทีเรีย เพราะมีสารพฤษเคมีหลายชนิด ที่มีประสิทธิภาพในการต้านเชื้อรา และต้านอนุมูลอิสระ - มีวิตามินซี วิตามินอีสูง ช่วยบำรุงผิว และช่วยการชะลอวัยได้ และมีวิตามินบี 2 ช่วยบำรุงเล็บ และเส้นผมด้วย และมีวิตามินบี 1 ช่วยในการบำรุงประสาท และสมอง
- มีแคลเซียมสูง ซึ่งมีส่วนช่วยในการเสริมสร้างกระดูกและฟัน และมีฟอสฟอรัส ช่วยในการเจริญเติบโต และซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอในร่างกาย
- มีธาตุเหล็ก ช่วยป้องกันอาการอ่อนเพลียของร่างกายได้
ข้อควรระวังในการทานมะขามเทศ |
แม้ว่าจะมีประโยชน์หลากหลายด้าน แต่ก็ควรทานในปริมาณที่เหมาะสม เพราะมะขามเทศ เป็นพืชสมุนไพรที่ให้รสฝาด หากทานมากเกินไป อาจทำให้ท้องอืดได้ สำหรับใครที่ต้องการใช้มะขามเทศเป็นยาสมุนไพร บรรเทาอาการต่าง ๆ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ เพราะหากใช้ติดต่อกันนาน ๆ อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพได้