admin@phraefoodthailand.com

ยินดีต้อนรับสู่เว็บไซต์ อาหารจังหวัดแพร่


กล้วยอ่องหรือกล้วยน้ำว้า

ชื่ออื่นๆ : กล้วยน้ำว้าเหลือง, กล้วยมณีอ่อง, มะลิอ่อง, เจก, ยะไข่, สะกุย, แหลก, กล้วยมะลิอ่อง (จันทบุรี) กล้วยใต้ (เชียงใหม่,เชียงราย) กล้วยอ่อง (ชัยภูมิ) กล้วยตานีอ่อง (อุบลราชธานี)
ต้นกำเนิด : เอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ชื่อสามัญ : กล้วยน้ำว้า Banana
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Musa ABB cv. Kluai ‘Namwa’
ชื่อวงศ์ : Musaceae
กล้วยน้ำว้า เป็นไม้ล้มลุกขนาดใหญ่  มีความสูงตั้งแต่ 2 – 9 เมตร  มีลำต้นอยู่ใต้ดินเรียกว่าเหง้า  ส่วนที่โผล่ขึ้นมาเหนือดินแท้จริงไม่ใช่ลำต้นเป็นเพียงส่วนของก้านใบมีลักษณะที่เรียกว่ากาบห่อหุ้มเรียงสลับอัดกันแน่นดูคล้ายกับลำต้น  ส่วนใบเป็นใบเดี่ยว  แผ่นใบใหญ่  มีสีเขียว  เรียกว่าใบตอง
ผลของกล้วยน้ำว้าขณะที่ยังดิบอยู่เนื้อกล้วยจะแข็งมีรสฝาด  เนื้อมีสีขาว  ยังไม่มีกลิ่นหอมของกล้วย  เปลือกของผลดิบแข็ง  มีสีเขียวเข้ม  ปอกยาก  แต่เมื่อตัดจากลำต้นแล้วประมาณ 10 วัน เปลือกจะมีสีเหลืองตลอดลูก  ตกกระเป็นจุด ๆ มีกลิ่นหอมชวนรับประทาน  มีรสหวาน เปลือกปอกได้ง่าย  ผลกล้วยสุกเรานำมาทำอาหารได้กลายอย่าง  เช่น  กล้วยเชื่อม  กล้วยตาก  กล้วยบวชชี  กล้วยแขก  กล้วยปิ้ง  รับประทานเป็นยาระบายอ่อน ๆ เป็นอาหารเสริมสำหรับทารก

คุณค่าทางอาหารของกล้วยน้ำว้า กล้วยน้ำว้าเป็นพันธุ์ที่สามารถใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วนทั้งลำต้น  ใบ  ดอก  ผล  โดยเฉพาะผลกล้วยน้ำว้าที่สุกแล้ว  มีสารอาหารที่มีประโยชน์แก่ร่างกายหลายชนิด  ซึ่ง กองโภชนาการ  กรมอนามัย  กระทรวงสาธารณะสุข  ได้วิเคราะห์คุณค่าอาหารของกล้วยน้ำว้าสุกไว้ดังนี้ครับ กล้วยน้ำว้าสุก 100 กรัม  มีปริมาณสารอาหารดังนี้ พลังงาน 122 กิโลแคลอรี ไนอาซิน 0.6 มิลลิกรัม โปรตีน 1.2 กรัม วิตามิน  ซี 14.0 มิลลิกรัม คาร์โบไฮเดรต 26.1 กรัม แคลเซียม 12.0 มิลลิกรัม ไขมัน 0.3 กรัม ฟอสฟอรัส 32.0 มิลลิกรัม วิตามิน เอ 375 หน่วยสากล เหล็ก 0.8 มิลลิกรัม วิตามิน บี 1 0.03  มิลลิกรัม น้ำ 7.6 กรัม วิตามิน บี 2 0.04  มิลลิกรัม
ตัวอย่างเมนูกล้วยน้ำว้า 1. กล้วยทอด

เมนูกล้วยน้ำว้าอันดับต้น ๆ ที่นึกถึงนั่นคือ กล้วยทอด สมาชิกเว็บไซต์พันทิปดอทคอม สูตรนี้ใช้แป้งทอดกรอบสำเร็จรูป เพิ่มกลิ่นหอมจากมะพร้าวขูดและงาคั่ว จะหั่นกล้วยชิ้นหนาหรือบางก็ตามชอบ

ส่วนผสม กล้วยทอด
• กล้วยน้ำว้า 1 หวี
• แป้งทอดกรอบ 1 ถ้วย (แป้งโกกิ แป้งสาลีอเนกประสงค์ หรือแป้งข้าวเจ้า)
• กะทิ 1/2 ถ้วย
• น้ำเปล่าอุณหภูมิห้อง หรือน้ำเย็นจัด 1/4 ถ้วย
• น้ำตาลทราย 1 ถ้วย
• มะพร้าวขูด 1 ถ้วย
• งาขาวคั่ว 1 ถ้วย
• น้ำปูนใส 2 ช้อนโต๊ะ
• เกลือ 1 ช้อนชา
• น้ำมันสำหรับทอด 2 ถ้วย
ขั้นตอนวิธีการทำกล้วยทอด
1. ใส่แป้งทอดกรอบลงในอ่างผสมใบใหญ่ เติมกะทิลงไป คลุกเคล้าให้เข้ากันดี ใส่น้ำเปล่าลงไป (ในสูตรใส่น้ำอุณหภูมิห้อง แต่ถ้าเป็นน้ำเย็นจัดน่าจะกรอบกว่า) คน ๆ ให้ส่วนผสมละลายเข้ากัน
2. เติมน้ำตาลทรายแล้วคนอีกเรื่อย ๆ ให้น้ำตาลทรายละลาย ใส่มะพร้าวขูด ตามด้วยงาขาวคั่วไม่ต้องให้เหลืองมาก ผสมทุกอย่างให้เข้ากันจนส่วนผสมแป้งข้นนิด ๆ
3. ใส่น้ำปูนใสกับเกลือลงไป คนให้เข้ากัน (วิธีทำน้ำปูนใส คือ ใส่ปูนแดง 2 ช้อนโต๊ะ ลงในขวดแล้วก็เทน้ำใส่ลงไป ปิดฝาเขย่าให้ปูนละลาย แล้วก็ตั้งไว้ปล่อยให้ปูนแดงตกลงก้นขวด เอาน้ำใส ๆ มาทำอาหาร ส่วนน้ำปูนใสที่เหลือให้เก็บไว้อุณหภูมิห้องธรรมดาได้นาน)
4. นำกล้วยน้ำว้าฝานใส่ลงไปในส่วนผสมแป้ง 1 ลูกในสูตรฝานแค่ 3 ชิ้น
5. ตั้งกระทะใช้ไฟกลางค่อนไปทางร้อน ใส่น้ำมันลงไป เอากล้วยชุบแป้งลงทอด คนตลอดเวลา ทอดจนกล้วยเหลืองกรอบตักขึ้น พักไว้บนกระดาษอเนกประสงค์ ใส่ภาชนะ
2. กล้วยบวชชี ส่วนผสม กล้วยบวชชี     
• กล้วยน้ำว้าห่าม 1 หวี     
• หางกะทิ 500 มิลลิลิตร     
• ใบเตย 2 ใบ     
• น้ำตาลปี๊บ 4 ช้อนโต๊ะ     
• น้ำตาลทราย 4 ช้อนโต๊ะ     
• เกลือปริมาณเล็กน้อย     
• หัวกะทิ 400 มิลลิลิตร
ขั้นตอนวิธีการทำกล้วยบวชชี
1. ต้มกล้วยน้ำว้าในน้ำเดือด ประมาณ 3-5 นาที จนผิวกล้วยเริ่มแตกออก ตักขึ้น ปอกเปลือกแล้วหั่นเป็นชิ้นพอดีคำ
2. ต้มหางกะทิกับใบเตยจนเดือด ใส่กล้วยตามด้วยน้ำตาลปี๊บ น้ำตาลทราย และเกลือ ต้มจนเดือดอีกครั้ง ใส่หัวกะทิลงไป ต้มจนเดือดประมาณ 3 นาที ตักใส่ถ้วย
3. ขนมกล้วย ส่วนผสม ขนมกล้วย     
• กล้วยน้ำว้าสุก (บดละเอียด) 500 กรัม     
• น้ำตาลทราย 100 กรัม     
• เกลือป่น 1 ช้อนชา     
• แป้งข้าวเจ้า 100 กรัม     
• แป้งมันสำปะหลัง 5 ช้อนโต๊ะ     
• หัวกะทิ 200 มิลลิลิตร     
• มะพร้าวทึนทึกขูดฝอย     
• ใบตองสำหรับห่อ (ไม่มีใบตองสามารถใช้ถ้วยตะไลได้)
ขั้นตอนวิธีการทำขนมกล้วย
1. ผสมกล้วยน้ำว้ากับน้ำตาลทราย เกลือป่น แป้งข้าวเจ้า แป้งมันสำปะหลัง หัวกะทิ และมะพร้าวขูด เข้าด้วยกัน คนผสมให้เข้ากันดี
2. ตักส่วนผสมขนมกล้วยลงบนใบตอง แผ่บาง ๆ หรือจะทำเป็นทรงกรวยห่อเป็นทรงให้สวยงาม (หรือตักใส่ถ้วยตะไล) วางเรียงบนชุดนึ่งที่มีน้ำเดือด นึ่งประมาณ 20 นาทีจนขนมสุก จากนั้นนำออกจากชุดนึ่ง พร้อมเสิร์ฟ
ประโยชน์ของกล้วยน้ำว้า,กล้วยอ่อง
ส่วนที่ใช้ : หัวปลี เนื้อกล้วยน้ำว้าดิบ หรือห่าม กล้วยน้ำว้าสุกงอม ราก ต้น ใบ ยางจากใบ สรรพคุณ : ราก – แก้ขัดเบา ต้น – ห้ามเลือด แก้โรคไส้เลื่อน ใบ – รักษาแผลสุนัขกัด ห้ามเลือด ยางจากใบ – ห้ามเลือด สมานแผล ผล – รักษาโรคกระเพาะ แก้ท้องเสีย ยาอายุวัฒนะ แก้โรคบิด รักษาแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก แก้ริดสีดวง กล้วยน้ำว้าดิบ – มีฤทธิ์ฝาดสมาน ใช้แก้อาการท้องเดิน แก้โรคกระเพาะ และอาหารไม่ย่อย กล้วยน้ำว้าสุกงอม – เป็นอาหาร ยาระบาย สำหรับผู้ที่อุจจาระแข็ง หรือเป็นริดสีดวงทวารขั้นแรกจนกระทั่งถ่ายเป็นเลือด หัวปลี – (ช่อดอกของต้นกล้วย จำนวนไม่จำกัด) ขับน้ำนม

วิธีและปริมาณที่ใช้ :
ขับน้ำนม – ใช้หัวปลีแกงเลียงรับประทานบ่อย ๆ หลังคลอดใหม่ ๆ
แก้ท้องเดินท้องเสีย – ใช้กล้วยน้ำว้าดิบหรือห่ามมาปอกเปลือก หั่นเป็นชิ้นบาง ๆ ใส่น้ำพอท่วมยา ต้มนานครึ่งชั่วโมง ดื่มครั้งละ 1/2 – 1 ถ้วยแก้ว ให้ดื่มทุกครั้งที่ถ่าย หรือทุก ๆ 1-2 ชั่วโมง ใน 4-5 ชั่วโมงแรก หลังจากนั้นให้ดื่มทุก ๆ 3-4 ชั่วโมง หรือวันละ 3-4 ครั้งสรรพคุณเด่น :
แก้โรคกระเพาะ ท้องผูก
1. แก้โรคกระเพาะ – นำกล้วยน้ำว้าดิบ (ถ้าเป็นกล้วยหักมุกดิบจะดีกว่า) มาปอกเปลือก แล้วนำเนื้อมาฝานเป็นแผ่นบาง ๆ ตากแดด 2 วันให้แห้งกรอบ บดเป็นผงให้ละเอียด ใช้รับประทาน ครั้งละ 1-2 ช้อนโต๊ะ ละลายน้ำข้าว น้ำผึ้ง (น้ำธรรมดาก็ได้) รับประทานก่อนอาหารครึ่งชั่วโมง และก่อนนอนทุกวัน
2. แก้ท้องผูก – ให้รับประทานกล้วยน้ำว้าสุกงอม ครั้งละ 2 ผล วันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหาร 1/2 ชั่วโมง เวลารับประทานควรเคี้ยวให้ละเอียดที่สุด
3. แก้ท้องเดิน – ใช้เนื้อกล้วยน้ำว้าห่ามรับประทาน หรือใช้กล้วยน้ำว้าดิบ ฝานเป็นแว่น ตากแห้งรับประทาน


ข้อควรระวังในการบริโภคกล้วยน้ำว้า


กล้วยน้ำว้าเป็นผลไม้ ที่มีค่าดัชนีน้ำตาลสูง (Glycemic Index: GI) ซึ่งเป็นค่าบ่งชี้ระดับน้ำตาลในเลือด หลังรับประทานอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต หากรับประทานมากเกินไป อาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดพุ่งขึ้นสูง และส่งผลกระทบต่อการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวาน หรือทำให้ผู้ที่ป่วยโรคเบาหวาน มีอาการแย่ลง ดังนั้น ควรรับประทานในปริมาณที่พอดี ประมาณ 1-2 ลูก/วัน



Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Search

About

อาหารล้านนาชวนให้ลิ้มลองรสชาติความอร่อยที่ผสมผสานความเผ็ด เค็ม หวาน และเปรี้ยวได้อย่างลงตัว สะท้อนวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชาวล้านนาที่เรียบง่ายแต่แฝงไปด้วยความอุดมสมบูรณ์

Tags

There’s no content to show here yet.

Gallery