
ข้าวควบ
ข้าวควบ หรือ ข้าวเกรียบว่าว บ้างเรียก ข้าวปอง เป็นขนมพื้นบ้านที่มีมาช้านาน มีกล่าวไว้ในวรรณกรรมล้านนา เรื่อง นางอุทรา ว่า นางร้าย คือแม่เลี้ยงนางอุทรา แกล้งป่วย โดยใช้ข้าวควบวางไว้ใต้ที่นอน เมื่อขยับจะเสียงดัง ให้เข้าใจว่ากระดูกนางผิดปกติ
ในวัฒนธรรมล้านนา เทศกาลปีใหม่เมืองจะแบ่งออกเป็น 3 วันสำคัญ ได้แก่ วันสังขานต์ล่อง วันเนาว์ และวันพญาวัน แต่ละวันจะมีกิจกรรมต่าง ๆ ให้ทำต่างกันไป แต่วันที่สำคัญที่สุดคงจะไม่พ้นวันพญาวัน เพราะเป็นวันที่ใหญ่กว่าวันอื่น ๆ หลังจากที่ไปทำบุญที่วัดในช่วงเช้าแล้ว คนล้านนาจะเริ่มออกไปรดน้ำดำหัวผู้เฒ่าผู้แก่ที่เคารพนับถือ
ข้าวของที่คนล้านนาจัดเตรียมไปดำหัวผู้ใหญ่นั้น มักจะเป็นเสื้อผ้าชุดใหม่ หอม กระเทียม ขนมต่าง ๆ เช่น ข้าวควบ ข้าวแคบ ผลไม้ เป็นต้น โดยจะจัดเตรียมไปพร้อมกับน้ำขมิ้นส้มป่อย ซึ่งคนล้านนาถือว่าเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่สามารถชำระล้างสิ่งไม่ดีออกไปได้
ข้าวควบ ข้าวแคบที่นำไปดำหัวผู้ใหญ่นั้นเป็นขนมพื้นเมืองที่ในอดีตนั้นคนล้านนาจะทำในช่วงหนึ่งอาทิตย์ก่อนถึงเทศกาลปีใหม่เมือง วิธีการทำข้าวแคบนั้นคล้ายกับการทำข้าวเกรียบปากหม้อ คือละเลงแป้งข้าวเหนียวลงบนหม้อที่ใส่น้ำและขึงด้วยผ้าขาวบาง เมื่อแป้งสุกก็จะนำไปตากให้แห้ง สามารถนำไปปิ้งหรือทอดเพื่อรับประทาน ส่วนข้าวควบนั้นจะมีกรรมวิธีที่ยุ่งยากกว่า จึงหาดูวิธีการทำได้ยากกว่า
ข้าวควบเป็นขนมที่คนล้านนาชื่นชอบเพราะเก็บไว้รับประทานได้นาน ในอดีตนั้น ขนมของว่างไม่ได้มีมากมายเหมือนในปัจจุบัน ขนมอื่น ๆ เช่น ขนมจ็อกหรือขนมเทียน ขนมปาดก็มักจะทำเมื่อถึงเทศกาลหรือวันสำคัญเท่านั้น แต่
- ข้าวควบและข้าวแคบนั้น สามารถเก็บไว้ได้นาน เอามาย่างรับประทานเมื่อไหร่ก็ได้ ดังนั้น ผู้เฒ่าผู้แก่บ้านไหนที่มีคนเคารพนับถือมากก็จะมีข้าวควบ ข้าวแคบที่มีคนเอามาดำหัวเก็บใส่กระบุงไว้รับประทานได้ทั้งปี
คุณค่าทางโภชนาการอาหารตำรับนี้ พลังงาน 5,307 กิโลแคลอรี่, โปรตีน 64 กรัม, ไขมัน 54.8 กรัม, คาร์โบไฮเดรต 1,141 กรัม |
ส่วนผสมวัตถุดิบ 1. ข้าวสารเหนียว 1 ลิตร 2. น้ำตาลปี๊บ 500 กรัม 3. หัวกะทิ ½ ถ้วย 4. ไข่ไก่ 1 ฟอง 5. น้ำมันพืช 2 ช้อนโต๊ะ |
ขั้นตอนวิธีการทำ 1. ตำข้าวเหนียวที่นึ่งสุกใหม่ โดยใช้ครกมอง ตำจนข้าวเหนียวละเอียดเป็นแป้งเหนียว ใช้เวลาประมาณ 20 นาที 2. ใส่น้ำตาลปี๊บเคี่ยวผสมกะทิลงในครกมอง ตำต่อจนเป็นเนื้อเดียวกัน 3. ต้มไข่ไก่ให้สุก เลือกเฉพาะไข่แดง มาขยี้ผสมกับน้ำมันพืช เพื่อใช้ทามือและอุปกรณ์ในการทำข้าวควบ 4. นำแผ่นพลาสติกตัดเป็นวงกลม เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 6 นิ้ว หยิบแป้งประมาณหัวนิ้วโป้ง กดให้แบน คลึงแป้งให้เป็นวงกลมด้วยกระบองไม้ คว่ำแผ่นแป้งลงบนแผ่นพลาสติกใหญ่ 5. นำไปตากแดดให้แห้งประมาณ 1 ชั่วโมง 6. กลับด้านแป้ง และตากบนไม้ไผ่สาน อีก 1 ชั่วโมง 7. แกะแป้งออก พักไว้ให้เย็น นำมาเรียงซ้อนกันบรรจุในกระติก โดยใช้ใบตองรองด้านล่าง และปิดคลุมด้านบน เก็บไว้เป็นเวลา 1 คืน 8. นำแผ่นข้าวควบย่างกับเตาถ่าน |
เทคนิคการปิ้ง
1. ปิ้งบนเตาถ่านขนาดใหญ่
2. ใช้ไฟแรงปานกลาง
3. ค่อย ๆ เอียงด้านข้างของข้าวเกรียบเข้าหาไฟทีละด้าน เมื่อพองแล้วให้พลิกกลับด้านบ่อย ๆ
4. ปิ้งหมุนวนไปรอบ ๆ จนสุกทั่วทั้งแผ่น
ข้อแนะนำ
1. ควรกินตอนที่สุกใหม่ ๆ เท่านั้น ถึงจะได้สัมผัสกลิ่นหอม รสหวาน และความกรอบอร่อย
2. บางที่อาจผสมมันเทศ แตงโม ใบเตย อัญชัน ซึ่งจะได้ข้าวเกรียบว่าวที่มีสีแตกต่างกันไป ก็เป็นการเพิ่มความน่าสนใจให้ผลิตภัณฑ์ได้ดีครับ